เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ถูกเผยแพร่โดยประชาชน เป็นเพียงข้อเท็จจริง ไม่ใช่ Fake News

1421
0
Share:

เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ถูกเผยแพร่โดยประชาชน เป็นเพียงข้อเท็จจริง ไม่ใช่ Fake News

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ หลายคนคงได้ยินคำว่า Fake News กันแทบทุกวัน เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 หลังจากนายกรัฐมนตรีกักตัวครบ 14 วัน ก็ได้เข้า ครม. เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 โดยหนึ่งในนั้นมีมติให้ทุกกระทรวงตั้งทีมจัดการเอาผิดผู้เผยแพร่ ‘Fake news’ ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชน คนมีชื่อเสียง หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินคดีได้ทันที

ประชาชนตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาลว่า Fake News ที่พูดถึงคืออะไร ต้องเข้าข่ายลักษณะแบบไหน ในเมื่อหลายอย่างที่เผยแพร่ไปคือเรื่องจริง

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้โพสต์เฟสบุ๊กสั่งการตรงให้แต่ละกระทรวงดำเนินการแก้ปัญหาข่าวปลอม โดยในส่วนของการจัดการปัญหาข่าวปลอมจะอยู่ในหัวข้อที่ 2 ของเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งได้ระบุไว้ดังนี้

“ขณะที่เรากำลังเผชิญกับปัญหาโควิด และหน่วยงานรัฐกำลังแก้ไขสถานการณ์กันอย่างเต็มที่ แต่เรากลับต้องเผชิญกับปัญหาข่าวปลอม หรือ Fake News ที่กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคมเป็นอย่างมาก มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือการจงใจตัดต่อบิดเบือนคำพูด เพื่อสร้างความเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก ทั้งจากสื่อมวลชน ผู้มีชื่อเสียง และผู้ใช้สื่อทั่วไป ทั้งที่ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน

ผมขอเรียนให้ทราบว่า ผมให้ความสำคัญกับการจัดการข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างยิ่ง และได้สั่งการโดยตรงให้แต่ละกระทรวง ดำเนินการแก้ปัญหาข่าวปลอมอย่างจริงจังและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนี้

1. ขอให้แต่ละกระทรวง จัดตั้งฝ่ายที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและแก้ไขข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกระทรวงทันที และให้เป็นตัวแทนหน่วยงานแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดด้วย

2. ศูนย์ข่าวปลอมของกระทรวงและจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและประกาศ ลงสื่อของกระทรวงและหน่วยงานภายใน 24 ชั่วโมง ให้เข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด หลังจากได้รับการแจ้งจากประชาชน หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และส่งข้อมูล หรือประกาศชี้แจงแก้ไขข่าวปลอมให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และ กสทช. ทันทีที่ลงสื่อของกระทรวงด้วย

3. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปอท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ศปก. ศบค. ร่วมปรึกษาหารือกันอย่างเร่งด่วน ในการนำเอาข้อกำหนดข้อที่ 11 จากประกาศฉบับที่ 27 ของ พรก.ฉุกเฉิน ว่าด้วยเรื่องการห้ามบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร มาเป็นแนวปฏิบัติของมาตรการที่ชัดเจน

4. ให้กรมประชาสัมพันธ์ โฆษกทุกกระทรวง และ กสทช. สื่อสารให้ทุกหน่วยงานและประชาชนได้รับทราบถึงมาตรการนี้อย่างทั่วถึง

5. ให้กระทรวง DES, ปอท. สตช. ดำเนินการในแนวปฏิบัติจากมาตรการนี้อย่างจริงจังและรวดเร็วยิ่งขึ้น ชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม ดำเนินคดีกับคนผิดได้จริงๆ โดยเฉพาะผู้ปล่อยรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน คนดัง หรือเพจต่างๆ ไม่ใช่จับแค่ชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น

โดยข้อสั่งการทั้งหมดนี้ ผมจะติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด โดยขอให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด และขอให้รายงานความคืบหน้าต่อผมก่อนการประชุม ครม. ครั้งหน้า และรายงานต่อเนื่องก่อนการประชุม ครม. ทุกครั้ง”

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เผยแพร่ข้อความนี้ออกไป ประชาชนส่วนใหญ่ต่างแสดงความคิดเห็นว่าการกระทำนี้ไม่ต่างจากการปิดหูปิดตาประชาชนและสื่อมวลชน รวมถึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคนไทย เพราะเท่าที่ดูข้อสั่งการของท่านนายกฯ ตั้งแต่ข้อที่ 2.1-2.5 แล้ว ล้วนมุ่งไปที่ประเด็นที่ประชาชนออกมาเผยแพร่ข่าวการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ภายในบ้านขณะรอเตียง หรือแม้แต่การเสียชีวิตบนท้องถนน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ค่อนข้างน่ากลัวและสร้างความแตกตื่นไม่น้อย จนประชาชนส่วนใหญ่ได้ตั้งคำถามกลับไปยังนายกรัฐมนตรีต่อว่า คำว่า Fake News ของรัฐบาลแท้จริงแล้วคืออะไร ต้องเป็นลักษณะแบบไหน เพราะคำว่า Fake หมายถึงเรื่องโกหกหลอกลวง แต่สิ่งที่ถูกเผยแพร่ออกไปเกือบทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องจริงแทบทั้งสิ้น…

6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพสื่อ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้โพสต์เฟสบุ๊ก สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหาเรื่องข่าวปลอม หรือ Fake News โดยให้เหตุผลว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือการจงใจตัดต่อบิดเบือนคำพูด เพื่อสร้างความเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก ทั้งจากสื่อมวลชน ผู้มีชื่อเสียง และผู้ใช้สื่อทั่วไป

ในวันถัดมา (28 กรกฎาคม 2564) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชน และสื่อสารมวลชน จากการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องมาตรการเพื่อมิให้การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะมาตรการดังกล่าวมีการระบุถึง “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” โดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการนี้ เพราะอาจเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการนำเสนอข่าว และการแสดงความเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อการรับรู้ข่าวสารได้

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ขอยืนยันในหลักการ ‘เสรีภาพสื่อเสรีภาพประชาชน’ กล่าวคือ การคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน ย่อมเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนเช่นกัน ดังนั้นจากนี้เป็นต้นไป องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจะมีกิจกรรมที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลจะเข้าใจ และตระหนักได้ว่าการพยายามจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนย่อมนำไปสู่ความล่มสลายของรัฐบาลในที่สุด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีการออกราชกิจจานุเบกษา ประกาศข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ห้ามเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือน รวมถึงอนุญาตให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ได้รับใบอนุญาตทุกรายสามารถตรวจสอบเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ได้ พร้อมแจ้งรายละเอียดให้ กสทช. ทราบ และดำเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพีนั้นทันที รวมถึงให้ กสทช. ส่งเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่อาจเป็นไปอย่างที่หวัง สิ่งต่อมาที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือการที่เสียงสะท้อน การขอความช่วยเหลือที่แท้จริงของประชาชนดังไปไม่ถึงผู้บริหารประเทศ สุดท้ายการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดมิใช่ข่าวปลอม และสื่อมวลชนมีหน้าที่นำเสนอข่าวจริงให้กับประชาชนรับทราบ โดยเสียงของประชาชนที่เกิดขึ้น เพื่อร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อส่งสัญญาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อเท็จจริง หรือแม้แต่เพื่อเผยแพร่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นที่ความช่วยเหลือจากหน่วยงานอาจจะยังไปไม่ถึง ทั้งหมดล้วนเป็นเสียงสะท้อน มิใช่ Fake News

ทีมงาน BTimes ขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนทุกคนสามารถก้าวผ่านวิกฤตโรคระบาดนี้ไปได้ พร้อมขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปที่เกิดขึ้นค่ะ

BTimes