Pride Month เดือนแห่งโอกาสเจาะตลาดสีรุ้ง รุกผู้บริโภค LGBTIQ+ กระเป๋าหนัก เม็ดเงินเน้นๆ กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

1125
0
Share:

Pride Month เดือนแห่งโอกาสเจาะตลาดสีรุ้ง รุกผู้บริโภค LGBTIQ+ กระเป๋าหนัก เม็ดเงินเน้นๆ กระตุ้น เศรษฐกิจ ไทย

Pride Month เดือนแห่งโอกาสเจาะตลาดสีรุ้ง รุกผู้บริโภค LGBTIQ+ กระเป๋าหนัก เม็ดเงินเน้นๆ กระตุ้นเศรษฐกิจไทย บนความเข้าใจและเคารพสิทธิความเท่าเทียมกัน

เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะได้เห็นบรรยากาศของสีสันคัลเลอร์ฟูล ที่เป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์ของเทศกาล “Pride Month” หรือเดือนเเห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTIQ+ ยังรวมไปถึงสื่อโซเชียลมีเดียของบรรดาแบรนด์ องค์กร หรือแม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองอย่าง “ก้าวไกล” และพรรคเพื่อไทย ที่แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ในการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่เริ่มต้นเดือนมิถุนายน โดยประเทศไทยเราเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจัดงาน “Pride Month” สร้างบรรยากาศ สีสันที่สนุกสนาน คึกคัก ให้กับบ้านเราได้เป็นอย่างดี

จุดเริ่มต้นของ “Pride Month” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1960 ในยุคนั้น สังคมยังไม่เปิดรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสักเท่าไรนัก ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ เมื่อไม่มีใครยอมรับ สถานที่ปลอดภัยของพวกเขาจึงมีแค่ “บาร์เกย์” เอาไว้เป็นที่นัดไปรวมตัวกันเพื่อสังสรรค์ และเป็นที่พักสำหรับใครก็ตามที่ถูกบ้านขับไล่มา และด้วยการเลือกปฏิบัติ บาร์เกย์ในยุคแรกๆ จึงยังไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงมักจะเปิดบาร์เกย์เถื่อน กระทั่งเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 คือตำรวจบุกจับกุมผู้ใช้บริการในบาร์เกย์ “สโตนวอลล์ อิน” (Stonewall Inn) ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่พวกเขาไม่ยอม สุดท้ายเหตุการณ์จึงบานปลาย และมีการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม

เหตุการณ์ในครั้งนั้นจึงกลายเป็นชนวนให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกทางตัวตน แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ฝูงชนก็ยิ่งเดินทางมารวมตัวกันมากขึ้น จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วง ขบวนพาเหรด และการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สื่อถึง “ไพรด์” (Pride) หรือความภาคภูมิใจในตัวเอง เริ่มจากมหานครนิวยอร์ก ก่อนจะขยายไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา และกระจายไปทั่วโลก

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกวันที่ 28 มิถุนายน จึงเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มความหลากหลายทางเพศมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาก็ได้ขยายใหญ่ออกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นทั้งเดือน เพื่อแสดงถึงตัวตนของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นที่มาของเทศกาล “Pride Month” ในเดือนมิถุนายนนั่นเอง

สำหรับกลุ่มประชากร LGBTIQ+ ปัจจุบันมีตัวเลขคาดว่าทั่วโลกมีมากกว่า 400 ล้านคน และคาดว่าจะสร้าง GDP ได้มากถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกือบเท่ากับมูลค่า GDP ของประเทศเยอรมนีเลยทีเดียว และยังมีการคาดการณ์ด้วยว่ากลุ่ม LGBTIQ+ ที่อยู่ในแถบเอเชียมีจำนวนกว่า 200 ล้านคน และในไทยมีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งข้อมูลของเทอร์ร่า บีเคเค ได้ระบุว่ากลุ่ม LGBTIQ+ มีรายได้มากกว่ากลุ่มสถานะชายหญิงเมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกัน โดยกลุ่ม LGBTIQ+ ที่มีรายได้ 50,000 – 85,000 บาทต่อเดือนมีสัดส่วนมากกว่า 9% และกลุ่มทื่มีรายได้มากกว่า 85,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป สัดส่วนมากกว่า 4 %

ที่สำคัญคือพฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มนี้เรียกได้ว่าเป็นคนที่มีความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับผู้บริโภคกลุ่มอื่น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตอนนี้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยหันมารุกจับตลาดกลุ่ม LGBTIQ+ กันอย่างคึกคัก เพราะนี่เป็นลูกค้าชั้นดี มีรสนิยมการเลือกซื้อสินค้าและบริการหวือหวา กล้าซื้อของใช้ราคาแพง ซึ่งในเชิงเศรษฐกิจกลุ่ม LGBTIQ+ มีการเรียกขานเม็ดเงินที่มาจากพวกเขาว่า “Pink Money” คนละอันกับ Pink Venom ของสาวๆ แบล็กพิงค์ แน่นอน หรือเรียกอีกอย่างก็คือ เม็ดเงินสีชมพู แน่นอนว่าหลายธุรกิจได้ปรับ หรือครีเอทผลิตภัณฑ์และบริการพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่ม LGBTIQ+ ขึ้นมาโดยเฉพาะ

หากย้อนไปดูแล้ว คำว่า “Pink Money” เป็นคำที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นยุคที่บริษัทขนาดใหญ่และผู้ค้าปลีกเริ่มสังเกตว่ากลุ่ม LGBTIQ + ที่เคยถูกละเลยก่อนหน้านั้นเริ่มมีกำลังซื้อในการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่าครอบครัวที่มีลูกเสียอีก เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อที่สูง อาจจะไม่ได้แปลว่ามีรายได้สูงกว่า แต่หมายความว่ากลุ่มนี้มีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกันไป ซึ่งข้อแตกต่างหลักๆ คือกลุ่ม LGBTIQ+ ไม่มีลูกทำให้มีกำลังซื้อที่สูงกว่า

ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ยังพบด้วยว่าการเติบโตของเม็ดเงินจาก “Pink Money” และความต้องการในสินค้าฟุ่มเฟือยและบริการระดับพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เพราะมีการประเมินว่ากลุ่ม LGBTIQ+ จะใช้จ่ายมากกว่ากลุ่มเพศตรงข้ามถึง 15% และพวกเขาสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการที่มีราคาแพงกว่าเช่น ร้านอาหาร เสื้อผ้า และการท่องเที่ยวที่หรูหราได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคในครอบครัวแบบดั้งเดิมไม่สามารถจ่ายได้ ที่สำคัญถ้ากลุ่ม LGBTIQ+ ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ก็จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงแบบทวีขึ้นไปอีก เพราะจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายให้ครอบครัว ซึ่งกำลังซื้อของคู่รัก LGBTIQ+ เหล่านี้เรียกว่า “DINK” หรือ “Double Income / No Kids” ที่หมายถึง “รายได้สองเท่า/ไม่มีลูก” ทำให้ LGBTIQ+ กลายเป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจจากบรรดาธุรกิจทุกกลุ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ถ้าจะยกตัวอย่างธุรกิจในไทยที่มุ่งจับเทรนด์เศรษฐกิจสีรุ้ง ในวงการค้าปลีกก็อย่าง เซ็นทรัลพัฒนา โดยเริ่มจากการเป็นหัวหอกในการผนึกพันธมิตรดึงจุดเด่นของประเทศไทย ผลักดันให้งานฉลองเทศกาล Pride Month ของประเทศไทยเป็น Top of Pride Destination ของคนทั่วโลก และยกระดับสู่การเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 ชาติแรกในเอเชีย ซึ่งได้จับมือกับหลายหน่วยงานทั้งรัฐ-เอกชน จัดงานฉลองเทศกาลไพรด์ประเทศไทย ในงาน THAILAND’S PRIDE CELEBRATION 2023 ชูคอนเซ็ปต์ “PRIDE FOR ALL” ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2566 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศ

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไตรมาส 2 และดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ปักหมุดไทยเป็นที่แรก

ด้านคุณอรธิรา ภาคสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการอาวุโส ดิ เอ็มดิสทริค บอกว่า ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยมีการคาดการณ์ว่าในไทยมีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงิน มีความสามารถในการใช้จ่าย มีไลฟ์สไตล์ที่เรียบหรูดูแพง และเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการทำการตลาดกลุ่มหนึ่ง

ในด้านธุรกิจธนาคารเองก็หันมาจับเทรนด์นี้ด้วยเช่นเดียวกัน อย่างธนาคารกรุงศรีเอง ก็ได้ครีเอทผลิตภัณฑ์ด้านการเงินเพื่อนำเสนอกลุ่มนี้ เช่น “สินเชื่อบ้านคู่เพื่อน กู้บ้านด้วยกัน ใช้ชีวิตที่พิเศษด้วยกัน” สำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับ “คู่เพื่อน” ที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน ที่จดจำนองและเบิกรับเงินกู้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2566–30 มิถุนายน 2566 นี้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าตลาดสีรุ้ง หรือกลุ่ม LGBTIQ+ นี้มีอิทธิพลต่อการกำหนดกลยุทธ์ ทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเหล่าบรรดาภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่าเม็ดเงิน “Pink Money” ก็จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากมองในมุมของแบรนด์ Pride Month ถือเป็นโอกาสที่แบรนด์จะได้แสดงจุดยืนสนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ที่ทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญและตัวตนที่หลากหลายของมนุษย์บนโลกใบนี้ ที่ไม่ได้มีแค่หญิงและชาย

แต่นอกจากเทรนด์ตลาดแล้ว การยอมรับ เคารพสิทธิและความเท่าเทียมกันของคนกลุ่มนี้อย่างจริงใจ ยังเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการเกาะกระแส “Pride Month” เพื่อหวังใช้เป็นเครื่องมือดูดเงินจากพวกเขาในช่วงเวลาสั้นๆ

BTimes