ต้อนรับ Pride Month ความรักไร้ข้อจำกัด เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมสิทธิสมรสไม่เท่ากัน

1127
0
Share:

ต้อนรับ Pride Month ความรักไร้ข้อจำกัด เป็นคนเหมือนกัน ทำไมสิทธิสมรสไม่เท่ากัน

ในเดือนมิถุนายนของทุกปี จะเห็นถึงการแสดงจุดยืนในเรื่องของการยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศผ่านเทศกาลสีรุ้งจากหลายประเทศทั่วโลก นับเป็นการเรียกสีสันมากมายทั้งทางโซเชียลมีเดีย หรือตามสถานที่ต่างๆ โดยเทศกาลนี้มีชื่อเรียกว่า Pride Month หรือช่วงเวลาที่ LGBTQ+ จะร่วมกันแสดงออกถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศตลอดทั้งเดือนมิถุนายน ซึ่งมักจะมีขบวนพาเหรดพร้อมธงสีรุ้งสดใสที่ประกาศถึงความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ+ โดยจุดเริ่มต้นของ Pride Month มิใช่การเฉลิมฉลองอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นวันที่พวกเขากล้าที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตนเอง

Pride Month คืออะไร ทำไมถึงใช้สีรุ้ง

ในปี ค.ศ.1960 เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียกร้องในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากในยุคนั้นเป็นยุคที่คนตื่นรู้ทางการเมือง ดังนั้นผู้คนจึงมีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงแก้ไขความเข้าใจที่ผิดๆ กันเยอะมากขึ้น

ต่อมาในปี ค.ศ.1969 ได้เกิดเหตุจลาจลที่มีชื่อเรียกว่าสโตนวอลล์อินน์ ที่มหานครนิวยอร์ค เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อตำรวจได้ทำการบุกจับกุมผู้ใช้บริการในบาร์เกย์สโตนวอลล์อิน พร้อมอ้างว่าทางบาร์ได้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่แล้วเหตุการณ์ก็เริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่มีการพยายามทำร้ายหนุ่มข้ามเพศโดยใช้กระบองฟาดที่หัว และปฏิบัติอย่างรุนแรงราวกับว่าพวกเขาเป็นผู้ร้าย ส่งผลให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่มีความบานปลายยิ่งใหญ่คล้ายกับการประท้วง Black Matter แต่สำหรับกรณีนี้เป็นเรื่องของการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไป ในปี ค.ศ.2000 ก็ได้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อ Bill Clinton ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์ และเลสเบี้ยน (Gay & Lesbian Pride Month) ต่อมาในปี ค.ศ.2009 ประธานาธิบดี Barack Obama ก็ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ (Lesbian, Gay, Bisexual and Transgender Pride Month) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ดังนั้นทั่วโลกจึงได้มีการจัดกิจกรรมแสดงออกเรียกร้องความเท่าเทียม เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในเดือนมิถุนายนนั่นเอง

สำหรับสัญลักษณ์อย่างธงสีรุ้งที่สร้างพลังให้กับกลุ่ม LGBTQ+ นั้น ถูกคิดค้นโดย Gilbert Baker ชาวอเมริกันที่ประกาศตัวว่าเขาคือหนึ่งในชาว LGBTQ+ ด้วยเช่นกัน เดิมทีธงสีรุ้งมีทั้งหมด 8 สี แต่ไม่นานก็มีการตัดสีชมพูและสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ออก ทำให้ปัจจุบันธงสีรุ้งเหลือเพียง 6 สีอย่างเช่นทุกวันนี้ โดยแต่ละสีมีความหมาย ดังนี้

สีแดง หมายถึง ชีวิต
สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
สีเหลือง หมายถึง แสงแห่งความหวัง
สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
สีฟ้า หมายถึง ศิลปะ
สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ

‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ ข้อเรียกร้องของชาว LGBTQ+ ในประเทศไทยที่อยากให้รัฐมองเห็นถึงความเท่าเทียมที่ทุกเพศควรได้รับ

ปัจจุบัน พ.ร.บ. คู่ชีวิต หรือ สมรสเท่าเทียม ยังคงเป็นเพียงฉบับร่าง โดยจุดประสงค์หลักของ พ.ร.บ. นี้คือการให้สิทธิแก่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการร่าง พ.ร.บ คู่ชีวิตถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการผลักดัน เพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน เพื่อให้กลายเป็นคู่ชีวิต และเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวได้เช่นเดียวกับคู่สมรส โดย พ.ร.บ. คู่ชีวิต จะครอบคลุมสิทธิ ดังนี้

1. การจดทะเบียนสมรสและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต

2. สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

3. การรับบุตรบุญธรรม คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้

4. การจัดการทรัพย์สิน โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน

ปัจจุบันมีประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 31 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา กรีนแลนด์ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา คอสตาริกา อุรุกวัย บราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน นอร์เวย์ สวีเดน เมอร์บิวดา ไอซ์แลนด์ โปรตุเกส เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ ลักเซมเบิร์ก ไอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย มอลตา แอฟริกาใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย หมู่เกาะแฟไร และนิวซีแลนด์

โดยในปี 2001 เนเธอร์แลนด์ ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้สิทธิ์คู่รักเพศเดียวกันสมรส และรับบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ ต่อมาอีกประมาณ 20 ปีก็เริ่มมี 20 กว่าประเทศทั่วโลกร่างกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกัน สะท้อนถึงการยอมรับต่อชาว LGBTQ+ ที่มากขึ้นของคนทั่วโลก

สุดท้าย BTimes ก็อยากขอให้ทุกคนเปิดใจ ร่วมผลักดันเพื่อความเท่าเทียมทั้งสิทธิ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการของทุกเพศในสังคม รวมถึงส่งเสริมความเสมอภาค และขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม พร้อมยอมรับความหลากหลายทางเพศ และให้โอกาส LGBTQ+ ได้มีโอกาสแต่งงาน และจดทะเบียนสมรสได้เช่นเดียวกัน เพราะความรักไร้พรมแดนและไร้ข้อจำกัดเรื่องเพศค่ะ

BTimes