#SaveRalph แฮชแท็กร้อนทั่วโลกสู่มหากาพย์การเรียกร้องจริยธรรมของมนุษย์ เพื่อยุติการใช้เครื่องสำอางที่ทดลองในสัตว์

1390
0
Share:

#SaveRalph แฮชแท็กร้อนทั่วโลกสู่มหากาพย์การเรียกร้องจริยธรรมของมนุษย์ เพื่อยุติการใช้เครื่องสำอางที่ทดลองในสัตว์

เมื่อไม่นานมานี้หลายคนคงได้เห็นผ่านหูผ่านตากับกระแสไวรัลสุดร้อนแรงในโลกโซเชียลที่มาพร้อมแฮชแท็ก #SaveRalph ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้ยุติการใช้เครื่องสำอางที่ทดลองกับสัตว์ พร้อมกับสนับสนุนให้แบนสินค้าที่ใช้สัตว์ในการทดลอง เกิดเป็นเรื่องราวสุดฮือฮา สร้างดราม่าจนขึ้นเทรนด์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

Save Ralph เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันรูปแบบสต็อปโมชันความยาวกว่า 3 นาที ที่ได้ผู้กำกับฝีมือดีจากฮอลลีวูดอย่าง Spencer Susser มาช่วยเขียนบทและกำกับ แอนิเมชันเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญรณรงค์ไม่ใช้สัตว์ในการทดลอง และยุติการทารุณกรรมสัตว์ ภายใต้หัวหอกใหญ่อย่างหน่วยงาน Humane Society International (HSI) ที่เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้สมาคมมนุษยธรรมแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ The Humane Society of the United State โดยเนื้อหาของวิดิโดได้บอกเล่าเรื่องราวของกระต่ายสีขาวเพศผู้ที่มีนามว่า “ราล์ฟ” (Ralph) ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของสัตว์ทดลองในโรงงานทดสอบการแพ้ของสารเคมีในส่วนผสมของเครื่องสำอาง หรือเครื่องเสริมความงามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อายไลเนอร์ แชมพู ครีมกันแดด รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่วางอยู่ในห้องน้ำทั้งหมดก่อนนำมาผลิตจริงให้กับมนุษย์ การทดลองดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้ราล์ฟมีปัญหาทางการได้ยิน ตาบอด ผิวหนังอักเสบ และเวลาขยับตัวจะรู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้รับสารเคมีจากการทดลอง โดยแอนิเมชันเรื่องนี้จบลงพร้อมกับประโยคสุดสะเทือนใจว่า “No animal should suffer and die in the name of beauty” หรือ “ไม่ควรมีสัตว์ตัวไหนต้องมาทนทุกข์และตายในนามของความงาม”

หลังจากที่แอนิเมชันสั้นเรื่องนี้ได้ถูกปล่อยออกไป ก็ถูกนำมาแปลออกมาเป็นภาษาต่างๆ มากมายรวมถึงภาษาไทย และก็กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่สะท้อนภาพความโหดร้ายของมนุษย์ อีกทั้งยังมีการเปิดเผยรายชื่อแบรนด์เครื่องสำอางและสินค้าเสริมความงามต่างๆ ที่ระบุว่ามีการนำสัตว์มาใช้ในการทดลอง เพื่อรณรงค์ให้เลิกสนับสนุน แต่หลังจากที่มีกระแสเชิงลบโจมตีอย่างหนัก ทำให้แบรนด์ที่ถูกอ้างถึงออกคำแถลงการณ์และนำเสนอข้อเท็จจริงว่าทางแบรนด์ไม่ได้มีสนับสนุนการทดลองในสัตว์อย่างที่ถูกกล่าวถึง แต่สำหรับการวางจำหน่ายในบางประเทศก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำ เพราะเป็นกฎข้อบังคับที่ถูกกำหนดไว้

ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความรู้ หรือความเข้าใจได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดลองผลิตภัณฑ์เหล่านี้กับสัตว์ว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าทุกแบรนด์ที่ถูกอ้างถึงจะมีการทดลองโดยใช้วิธีนี้ และการใช้สัตว์ทดลองนั้นไม่ได้ทำกันง่ายๆ แต่จะต้องมีการยื่นคำร้องขอจริยธรรมในการทดลอง พร้อมระบุเหตุผลอย่างชัดเจนว่าเพราะอะไรทำไมถึงจำเป็นต้องใช้สัตว์ในการทดสอบ ซึ่งการยื่นขอส่วนนี้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและมีกฎเกณฑ์มากมาย บางแบรนด์เลยเลือกวิธีแก้ปัญหาการเข้าใจผิดของผู้บริโภคด้วยการขอเครื่องหมาย “Cruelty-free” ที่มีลักษณะเป็นรูปกระต่าย หรือบางครั้งก็จะมีข้อความระบุบนตัวสินค้าว่า “Not tested On Animals” แสดงถึงว่าสินค้าเหล่านี้ไม่ได้มีการทดลองกับสัตว์ในกระบวนการผลิตแต่อย่างใด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมายนี้จะใช้สัตว์ในการทดลอง เพราะไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะสามารถนำเครื่องหมายนี้ไปใช้ แต่ต้องได้รับการรับรองจากองค์กรที่ได้รับการยอมรับ และมีค่าใช้จ่ายสูงพอตัว ซึ่งหลายแบรนด์ที่เป็นผู้ผลิตไม่ได้มีการเตรียมค่าใช้จ่ายสำรองในส่วนนี้ไว้ ดังนั้นหากไม่เห็นเครื่องหมาย “Cruelty-free” หรือ ข้อความ “Not tested On Animals” ก็อย่าตกใจ เพราะไม่ได้หมายความว่าแบรนด์เหล่านั้นใช้สัตว์ในการทดสอบ

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนทั้งในด้านของความอารมณ์รู้สึกและจริยธรรม สุดท้ายทางทีมงาน BTimes ก็ขอให้แฟนๆ พิจารณาไต่ตรองอย่างรอบครอบ และเป็นธรรม เพื่อจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของแบรนด์ที่ผลิตสินค้า รวมถึงอยากให้หาข้อมูลให้ดี เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์ เพราะสุดท้ายแล้วจุดหมายปลายทางของเรื่องนี้ก็เพื่อผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับมนุษย์

BTimes