ผิดกฎหมาย! พาณิชย์ แจงต่างชาติเปิดธุรกิจในไทยต้องได้รับอนุญาต คนไทยเอื้อเป็น “นอมินี”

323
0
Share:
ผิดกฎหมาย! พาณิชย์ แจง ต่างชาติ เปิด ธุรกิจ ในไทยต้องได้รับอนุญาต คนไทยเอื้อเป็น "นอมินี"

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงกรณีคนต่างชาติที่เข้าประเทศไทยโดยถือวีซ่านักท่องเที่ยวแต่กลับประกอบธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่มในไทยว่า กรมได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายฉบับใด ของหน่วยงานใดบ้าง เช่น ผิดพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ที่กรมกำกับดูแลอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กำลังเป็นกระแสข่าวขณะนี้ อย่าง ย่านเยาวราช

สำหรับการตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าย ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรมจะตรวจสอบว่า กรณีคนต่างด้าวที่เป็นนิติบุคคล หากขายอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับการอนุญาตก่อนหรือไม่ เพราะตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ นิติบุคคลต่างด้าว จะขายอาหารและเครื่องดื่มได้ ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน หากไม่ขออนุญาตจะถือว่ามีความผิด

นอกจากนี้ จะตรวจสอบด้วยว่า หากนิติบุคคลต่างด้าว ขายอาหารและเครื่องดื่ม โดยไม่ขออนุญาตก่อนนั้น มีคนไทยให้การช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยง หรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ หากพบว่า มีนอมินี จะมีความผิดอีกเช่นกัน ส่วนกรณีต่างด้าวที่เป็นบุคคลธรรมดา ขายอาหารและเครื่องดื่ม ก็อาจเข้าข่ายมีความผิดกฎหมายแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน ที่ห้ามต่างด้าวขายเช่นกัน หรืออาจผิดกฎหมายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณีการวางขายบนทางเท้า เป็นต้น

ส่วนกรณีคนไทยเป็นนอมินีของคนต่างด้าวนั้น จากการตรวจสอบของกรม พบว่า มีนิติบุคคลที่เข้าข่ายเป็นนอมินีเฉลี่ยปีละ 400-500 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เข้ามาประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์โดยใช้คนไทยถือหุ้นแทน ซึ่งหากพบกรณีที่อาจเข้าข่ายนอมินี กรมจะส่งหนังสือเชิญให้มาชี้แจง หากไม่สามารถชี้แจงได้ หรือชี้แจงไม่สมเหตุสมผล จะถือว่ามีความผิดตามฐานเป็นนอมินี ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และจะส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนในเชิงลึกถึงเส้นทางการเงินด้วย ทั้งนี้ กรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ดีเอสไอ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมที่ดิน ฯลฯ ตรวจสอบกรณีนอมินีในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร ฯลฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินคดีกับนิติบุคคล หรือคนไทยที่เป็นนอมินีแล้ว 66 ราย

อย่างไรก็ตาม คนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทยเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 – 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน