นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต กล่าวในงานประกาศกลยุทธ์ ปี 2568 ว่าขณะนี้การที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการหามาตรการกระตุ้นโดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ กระตุ้นซื้อรถใหม่เพื่อใช้ในธุรกิจมากขึ้น ซึ่งมองว่าวันนี้คนไทยเจอโจทย์จำกัดมากขึ้น ภายใต้เงินที่จำกัด เงินในกระเป๋าลดลง ดังนั้นวันนี้ทุกคนอยากเก็บเงินอาจทำให้ความจำเป็นในการซื้อรถน้อยลง ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากซึ่งเห็นใจรัฐบาล และกระทรวงการคลังที่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่าย
โดยมองว่าไทยต้องกระตุ้นกลุ่มคนที่มีเงินในกระเป๋าให้ออกมาจับจ่ายมากขึ้น แต่ปัจจุบันคนที่มีเงินมีการชะลอการใช้จ่าย และมองว่าหากซื้อนานกว่านี้อาจได้ของที่ถูกลง ขณะเดียวกันการกระตุ้นตลาดอัสังหาฯ เพื่อเร่งใช้จ่าย มองว่ามาตรการ LTV แม้จะมีการผ่อนปรนเกณฑ์อาจไม่ได้ช่วยมากนัก เนื่องจากวันนี้คนมีปัญหารายได้ และมีหนี้ต่อรายได้สูง ทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอในการกู้ซื้อบ้าน กลุ่มมีกำลังซื้อก็รอมาตรการเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ คือ ทำให้คนมีเงินในต่างประเทศเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในไทยมากขึ้น เหล่านี้คือศึกที่ทั่วโลกเผชิญ และมี 60 ประเทศ ที่ทำสิ่งเดียวกัน คือแย่งคนที่มีเงิน คนที่เป็นกลุ่มบนของเศรษฐกิจ โดยมองว่าวันนี้จะหวังเงินจากคนไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยคงเหนื่อย ดังนั้นต้องหาทางเอาคนจากต่างประเทศ ที่มีคุณภาพเข้ามามากขึ้น
นอกจากนี้สถานการณ์ของประเทศไทยกำลังมีปัญหา ทั้งจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ส่งผลให้มีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ มีการขึ้นกำแพงภาษีต่างๆ ที่ทำให้สงครามการค้ากลับมาปะทุอีกครั้ง ทำให้การค้าทั้งโลกเจอปัญหา อีกทั้งประเทศไทย ที่นับเป็นซัพพลายเชนของโลกก็ต้องโดนผลกระทบไปด้วย และไทยยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก รวมทั้งสินค้าจีนยังทะลักเข้าไทย ทำให้เอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดและแข่งขันยากอยู่แล้วเติบโตยากขึ้น ผลกระทบลามมาสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ ภาคการผลิตเจอการแข่งขันมากขึ้น ธุรกิจอ่อนแอลง
วันนี้ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เผชิญหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก แม้จะลดลงแต่ก็ยังอยู่ระดับสูง และหากดูรายได้คนไทยพบว่าโตเฉลี่ยเพียง 2% แต่หนี้ครัวเรือนโตปีละ 6% แต่ค่าใช้จ่ายแซงรายได้ไปมาก รายได้โตไม่ทันค่าใช้จ่าย แปลว่าต้องกู้มาใช้จ่าย ดังนั้นวันนี้ปัญหาไม่ใช่ปัญหาหนี้ครัวเรือนแต่เป็นปัญหาจากรายได้ครัวเรือน เพราะค่าครองชีพสูง รายได้ไม่พอรายจ่าย โดย 77% ของเอสเอ็มอี ต้องปิดตัวไปใน 3 ปีแรกของการทำธุรกิจ ธุรกิจต้องกู้มาใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ทำให้วันนี้ เห็นหนี้เสียและหนี้กำลังจะเสียของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20% หากเทียบกับครัวเรือนไทยที่อยู่ระดับ 11%
ด้านภาพตลาดหุ้นที่เห็นความน่าสนใจน้อยลง เพราะเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่ม Old economy เศรษฐกิจยุคเก่า มีเพียง 10% เท่านั้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคฯ หรืออุตสาหกรรมยุคใหม่ ดังนั้นไทยจึงแข่งขันกับชาวโลกยากขึ้น อยู่ยากขึ้น
ดังนั้นโจทย์วันนี้ไม่ใช่อยู่ที่การเร่งเติบโต แต่โจทย์คือ การอยู่รอด หากก้าวข้ามการอยู่รอดไม่ได้ การเติบโตก็คงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการโฟกัสการเติบโตของธุรกิจทีทีบีเอง หรือธุรกิจต่างๆก็อาจลดโฟกัสลง แต่มาเน้นกับการหาทางในการ อยู่รอด มากขึ้นทั้งครัวเรือน ธุรกิจเอสเอ็มอี ขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่
สำหรับ โครงการ “คุณสู้เราช่วย” ที่เสมือนเป็นยาแรง ในการแก้หนี้ แต่ลูกหนี้เข้าโครงการน้อย เช่นลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อบุคคลที่แม้ Hair cut หนี้ เพราะปัญหาคือลูกหนี้ไม่ต้องการจ่ายหนี้แต่ต้องการเอาเงินไปใช้ในการดำรงชีพ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาในส่วนลูกหนี้ที่เข้าโครงการกับทีทีบี ในกลุ่มรถยนต์ พบว่าความสนใจเข้าร่วมโครงการเพียงกว่า 10% ที่อยากเก็บรถไว้ใช้ ขณะที่อีก 80% เกือบ 90% ไม่เข้าโครงการ ไม่เจรจาหนี้
ส่วนกลุ่มลูกหนี้บ้าน เป็นกลุ่มที่เข้าโครงการมากสุด เห็นการตอบรับเข้าโครงการที่ดี 60% แต่ที่น่าห่วงคือ “เอสเอ็มอี” ที่น่ากังวล และพบว่ามีเพียง 1ใน 3 อยากสู้ต่อ ไม่อยากให้ถูกยึดกิจการ แต่อีก 7 ใน 10 ปล่อยให้แบงก์ยึดสถานประกอบการ ยึดกิจการ เพราะธุรกิจขาดทุนทุกเดือน ดังนั้นโครงการคุณสู้เราช่วยที่มองว่าเป็นยาแรงแล้ว หากไม่สามารถช่วยกลุ่มเหล่านี้ได้ ก็แปลว่าโจทย์ของลูกหนี้อาการหนักมากกว่าการผ่อนหนี้ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายทั้งแบงก์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทย