ไทยยังฮอต! เศรษฐกิจดิจิทัลไทยผงาด 17% อีก 3 ปี ส่งอาหารออนไลน์ใหญ่ที่ 2 อาเซียน

282
0
Share:
ไทยยังฮอต! เศรษฐกิจดิจิทัล ไทยผงาด 17% อีก 3 ปี ส่งอาหารออนไลน์ ใหญ่ที่ 2 อาเซียน

นายแจ็คกี้ หวาง Country Director กูเกิ้ล ประเทศไทย เปิดเผย รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับที่ 7 ในปีนี้ พบว่ามูลค่าสินค้ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตมากถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 7.6 ล้านล้านบาทภายในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 20% เทียบกับในปี 2021

สำหรับประเทศไทยนั้น ในปีนี้การเติบโตจากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย รวมทั้ง ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยยังคงมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย

รายงานดังกล่าวระบุว่า ในส่วนของประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าสินค้ารวมสูงถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.33 ล้านล้านบาทในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตที่ 17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.14 ล้านล้านบาท

คาดว่าในปี 2568 มูลค่าสินค้ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะ 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 15% ที่สำคัญ คาดว่าจะเติบโตขึ้น 2 เท่า มีมูลค่าประมาณ 100,000-165,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.8-6.27 ล้านล้านบาทภายในปี 2573

สำหรับบริการ 3 อันดับแรก ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ บริการส่งอาหารออนไลน์ และการซื้อของสดออนไลน์ จะมีอัตราการใช้บริการสูงที่สุดในกลุ่มคนไทยที่อยู่ในเขตเมือง

รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับที่ 7 ของกูเกิ้ล ประเทศไทย ยังได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ปะกอบด้วย อีคอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย คิดเป็น 63% ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมในปี 2565 โดยตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ในขณะที่อัตราการใช้บริการอีคอมเมิร์ซของไทยอยู่ที่ 94% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคฯ รองจากสิงคโปร์

ในขณะที่ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 8% จากปีก่อน โดยมีมูลค่าสินค้ารวมสูงถึง 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 836,000 ล้านบาทในปี 2565 และในปี 2568 คาดว่ามูลค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.22 ล้านล้านบาท สิ่งสำคัญ คือ 23% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยตั้งใจจะใช้บริการอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

เมื่อกล่าวถึงการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ คาดในปีนี้จะว่ามีมูลค่าสินค้ารวมแตะ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 114,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นถึง 12% เทียบจากปี 2564 นอกจากนี้ คาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 20% หรือเป็น 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 190,000 ล้านบาทภายในปี 2568

ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์กลับสู่แนวโน้มการเติบโตในทิศทางเดิมหลังจากที่มีการเติบโตถึง 3 เท่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยคาดว่าจะเติบโต 11% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 102,600 ล้านบาทภายในปี 2565 นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 136,800 ล้านบาทในปี 2568 ปรากฎการณ์นี้เองจะทำให้ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จะเป็นรองจากอินโดนีเซียเท่านั้น

ภาคการขนส่ง พบว่ามีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งประเมินว่าจะเติบโตถึง 36% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11,400 ล้านบาทภายในปี 2565 ที่สำคัญ จะเพิ่มขึ้นพุ่งเป็น 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 60,800 ล้านบาทภายในปี 2568

สื่อออนไลน์ ได้แก่ บริการวิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ เกม กลับมีการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเคยเติบโตอย่างก้าวกระโดดสูงเป็นประวัติการณ์ ด้วยสาเหตุมาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สำหรับในปี 2565 มีการเติบโต 10% และมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 190,000 ล้านบาท

การเติบโตของเพลงออนดีมานด์และวิดีโอออนดีมานด์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านโฆษณาออนไลน์ยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้คงเดิม ส่วนเกมออนไลน์พบว่าการใช้บริการลดลงเนื่องจากผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภาคธุรกิจสื่อออนไลน์จะขยายตัว 17% หรือคิดเป็นมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 266,000 ล้านบาทภายในปี 2568

การท่องเที่ยวออนไลน์ คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการที่ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยวหรือออกไปทำกิจกรรมต่างๆ คาดว่าจะมีการเติบโตสูงถึง 139% เมื่อเทียบจากปี 2564 คิดเป็นมูลค่าสินค้ารวม 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 190,000 ล้านบาท เมื่อประเมินในปี 2565 พบว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 22% หรือมีมูลค่าสินค้ารวมที่ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 342,000 ล้านบาทภายในปี 2568