กกพ. แจง 4 เหตุผล ต้องขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟทีตามอัตราเดิมที่เสนอไป

313
0
Share:

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก สำนักงาน กกพ. ชี้แจงถึงเหตุผลขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดใหม่รอบเดือน ก.ย.–ธ.ค. 2565 อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ดังนี้

4 เหตุผล ที่ต้องเพิ่มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที โดยการคิดค่าเอฟทีช่วงเดือน ก.ย.–ธ.ค. 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ไม่รวมที่ กฟผ. รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้า ประมาณ 83,010 ล้านบาท นอกจากนี้ การบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กกพ. ปรับเพิ่มค่าเoฟทีเพียง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเoฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย

การขึ้นค่าเอฟทีในช่วงปี 2565-2566 นี้มีสาเหตุหลักๆ มาจากสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและพม่า ที่ปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความผันผวนของ Spot LNG ในตลาดโลกสรุปได้ ดังนี้

1. ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลง จากเดิมสามารถจ่ายก๊าซได้ 2,800 – 3,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMSCFD) ลดลงเหลือราว 2,100 – 2,500 MMSCFD ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาด แต่ในช่วงสงครามรัสเซีย–ยูเครน ส่งผลให้ราคา Spot LNG มีราคาแพงและผันผวนในช่วงประมาณ 25-50 USD/MMBTU เทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาประมาณ 6-7 USD/MMBTU ดังนั้นการทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมันจะส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

2. การผลิตก๊าซจากพม่าที่ไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิมและมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม

3. สถานการณ์ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุนอันเนื่องมาจากมีความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงโควิด-19 ในปลายปี 2564 หลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากโควิดทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG โดยเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2564 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปในปี 2566

4. สภาวะสงครามรัสเซีย–ยูเครน ทำให้รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรปและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย