กทม.เผยผลการตรวจโควิด 19 เชิงรุก พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5 ราย

772
0
Share:

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานครว่า ความคืบหน้าของการตรวจคัดกรองเชิงรุกโดยระบบ BKK COVID-19 ซึ่งกทม.ร่วมกับเพจหมอแล็บแพนด้า ลงพื้นที่ให้บริการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง เพื่อทดสอบการติดเชื้อค้นหาผู้ได้รับเชื้อ ทั้งผู้ที่มีอาการและไม่มีอาการ
.
จากการตรวจคัดกรองดังกล่าวพบผู้ได้รับเชื้อรายใหม่เพิ่ม 5 ราย จากยอดตรวจ 874 ราย โดยส่งตัวเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนที่โรงพยาบาลในสังกัดเรียบร้อยแล้ว จากการตรวจพบผู้ได้รับเชื้อดังกล่าว ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ เป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายขยายวงออกไป
.
โดยเมื่อวานนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มียอดผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 22 คน ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 1,371 คน ผู้ป่วยรักษาหายสามารถกลับบ้านได้เพิ่มขึ้น 43 คน ยอดรวมผู้ป่วยรักษาหาย 1,152 คน ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา 344 คน
.
นอกจากนี้ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวมุสลิมทราบถึงประกาศจุฬาราชมนตรีเรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงระหว่างวันที่ 24 หรือ 25 เม.ย.63 ถึงวันที่ 23 หรือ 24 พ.ค.63 จะตรงกับเดือนรอมฎอนที่ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติศาสนกิจการถือศีลอดและการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะมีการรวมตัวกันเป็นหมู่คณะที่มัสยิด เคหสถาน หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ และในสถานการณ์ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องนี้

จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ดังนี้ 1.การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจราะห์ศักราช 1441 (พ.ศ.2563) นี้ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเท่านั้น
.
2.การถือศีลอดเดือนรอมฏอนให้ถือปฏิบัติตามปกติที่บทบัญญัติศาสนากำหนด ยกเว้นผู้ที่ได้รับผ่อนผันตามหลักการศาสนาเท่านั้น ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว มิได้เป็นอุปสรรคให้งดการถือศีลอดแต่ประการใด ตลอดจนการกลืนน้ำลายที่ไม่เจือปนเศษอาหารที่อยู่ในช่องปาก ก็มิได้ทำให้การถือศีลอดบกพร่องแต่อย่างใด กลับเป็นการรักษาร่างกายและลำคอให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ควรถ่มน้ำลายในสถานที่สาธารณะโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อในสภาวการณ์ปัจจุบัน
.
3.งดการจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดที่มัสยิด เคหสถาน หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ หากมีความประสงค์ก็ให้จัดทำอาหารปรุงสุกที่บ้านและจัดใส่ภาชนะบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะแล้วแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านและญาติใกล้ชิดแทนการจัดเลี้ยงที่มารวมกันเป็นหมู่คณะ
.
4.กรณีสมาชิกในครอบครัวละศีลอดหรือรับประทานอาหารซาโฮร์ร่วมกัน ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในภาชนะร่วมกัน และให้นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
.
5.งดการเอี๊ยะติก๊าฟ และการละหมาดญะมาอะห์ที่เป็นชุนนะห์ (สุนัต) ประเภทต่างๆ ในค่ำคืนของเดือนรอมฎอน ได้แก่ การละหมาดตะรอเวียะห์ การละหมาดวิตร์ (วิเต็ร) และการละหมาดตะฮัจญุด ตลอดจนกิจกรรมการรวมตัวอื่นๆ ที่มัสยิด หรือในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้
.
6.ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแจ้งไปยังมัสยิดในการสร้างความเข้าใจเรื่องการจ่ายซะกาตพิตร์ และฟิดยะห์ล่วงหน้า ที่สามารถกระทำได้ตั้งแต่เข้าสู่เดือนรอมฎอน โดยให้มัสยิดเป็นผู้รวบรวม และขอให้สัปปุรุษทุกคนร่วมมือในการมอบซะกาตฟิตร์และฟิดยะห์ดังกล่าวให้กับมัสยิด เพื่อนำไปช่วยเหลือครอบครัวที่เดือดร้อนในสถานการณ์ปัจจุบัน