กทม.แถลงยอดผู้ติดเชื้อโควิดรวม 40 ราย

1574
0
Share:

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ครั้งที่ 104/2563 ว่า ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ติดเชื้อในพื้นที่คือ 40 ราย แสดงไทม์ไลน์การเดินทางแล้ว 9 ราย ซึ่งกำลังแอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้พักอาศัยในกรุงเทพฯ 2 ราย ยังเหลืออีก 31 ราย ที่รอการแถลง
.
ล่าสุด วันนี้สอบสวนโรคเพิ่มแล้ว 4 ราย ทำให้เหลืออีก 27 ราย ที่ยังไม่มีไทม์ไลน์ชัดเจนแต่มี 3 รายที่เป็นพนักงานทำงานในโรงงานผลิตฟิลม์กระจกแห่งหนึ่งในเขตทวีวัฒนา ส่วนอีก 4 ราย เป็นพนักงานโรงงานเขตบางขุนเทียน ส่วนอีก 20 รายต้องขอทำการสอบสวนโรคก่อนนำมาแถลงต่อไป
.
ทั้งนี้นับต่อจากเดิมที่ได้เปิดเผย Timeline ไปแล้ว ผู้ป่วยรายที่ 10 เป็นข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เขตดุสิต ผู้ป่วยรายที่ 11 เป็นผู้ขายของในตลาดย่านลาดพร้าว ผู้ป่วยรายที่ 12 ได้เดินทางไปซื้อสินค้าที่ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อนำส่งร้านอาหารย่านลาดพร้าว ผู้ป่วยรายที่ 13 เป็นผู้เดินทางไปร้านขายกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ที่ผู้ป่วยทั้ง 4 ราย เดินทางไปนั้นอยู่ระหว่างการขออนุญาตเจ้าของสถานที่เพื่อเปิดเผยชื่อสถานที่ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว กทม.จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยเร็ว
.
ทั้งนี้ยังได้ตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยช่วงเช้าวันนี้ พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่า กทม.ได้ตรวจเยี่ยมการตรวจการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสัมผัสเสี่ยง ณ โรงงาน Big Star (บิ๊กสตาร์) ถนนพระรามที่ 2 ซอย 100 เขตบางขุนเทียน ซึ่งปัจจุบันได้ Swab พนักงานในโรงงานดังกล่าวไปแล้วกว่าครึ่ง
.
ซึ่ง กทม.จะพยายามเร่งดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อให้ได้มากที่สุด สำหรับในส่วนของตลาดซึ่งแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ประเภท ได้แก่
.
ประเภทที่ 1 การคัดกรอง กรุงเทพมหานครได้กำชับสำนักงานเขตลงพื้นที่สำรวจตลาดและใช้ระบบ BKK-Covid ประเมินความเสี่ยง ซึ่งแบ่งเป็น 3 อย่าง คือ การประเมินความเสี่ยงในประวัติการเดินทาง การประเมินความเสี่ยงจากการสัมผัสบุคคลที่ติดเชื้อโควิด-19 ประเมินความเสี่ยงโดยการสังเกตอาการ ซึ่งปัจจุบันทุกสำนักงานเขตได้สำรวจตลาดและความเสี่ยงครบทุกตลาดในกรุงเทพฯ แล้ว โดยยังไม่พบผู้ใดที่มีความเสี่ยง
.
ประเภทที่ 2 การทำ Sentinel Surveillance หรือการสุ่มตรวจ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 222 ราย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในตลาด กทม.ส่วนการค้นหาผู้ติดเชื้อด้วยการทำ Active Case Finding ส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้อในโรงงาน ซึ่งจะเร่งค้นหาให้ได้มากที่สุด
เนื่องจากการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการมีขีดจำกัดในการปฏิบัติงาน จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และเข้าไปขอตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาล โดยไม่ตื่นตัวเข้าไปหาเชื้อ ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานของหน่วยงานราชการที่จำเป็นส่งตัวอย่างตรวจสอบไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยความรวดเร็วทันเหตุการณ์