กนง.คงดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

481
0
Share:

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กาประชุม กนง.ในวันนี้ มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ต่อปี โดยมีคณะกรรมการ 1 ท่านลาประชุม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่มีความไม่นอนสูง
.
ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
.
โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว -6.6% ในปี 2563 ดีกว่าประเมินไว้เดิมจากภาคบริโภคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น และจะกลับมาขยายตัว 3.2% และ 4.8% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ
.
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่แน่นอนสูง ในระยะสั้นขึ้นกับมาตรการควบคุมโควิด 19 การแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ส่วนระยะถัดไปขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และประสิทธิผลและการกระจายของวัคซีนโควิด 19 รวมถึงการพัฒนาของตลาดแรงงาน ที่มีจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานอยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืน ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป
.
ส่วนสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่ธุรกิจ และครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่อง ยังเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก เช่น SME
.
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังเคลื่อนไหวผันผวนสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ซึ่งกนง.กังวลต่อสถานการณ์เงินบาท ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเร็ว จากสภาวะเปิดความเสี่ยงของนักลงทุน และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จึงเห็นควรให้ติดตามอย่างใกล้ชิด และพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมทั้งผลักดันการส้รางระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน
.
ขณะที่ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะถัดไป ด้านนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรกระจายไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ เช่นมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต และให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และมาตรการ การคลังต้องพยุงเศรษฐกิจไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่าย
.
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้าคือการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิดในประเทศ และการดำเนินการนโยบายการเงิน ที่พร้อมใช้เครื่องมือที่เหมาะสมถ้าจำเป็น แต่มาตรการควบคุมโควิดจะกระทบเศรษฐกิจบ้างแต่ไม่มากนัก