กฟผ. ลั่นแบกค่าเอฟทีช่วยประชาชนต่อไม่ไหว ช่วย 3 รอบทำหนี้แตะ 100,000 ล้านบาท

443
0
Share:

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า วงเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที 1 แสนล้านบาท ก็มีผลต่อสภาพคล่องของ กฟผ. เช่น ทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถนำเข้าแอลเอ็นจีตามแผนงานได้ และมีผลกระทบด้านอื่นๆ แต่ยืนยันไม่กระทบต่อการลงทุนโรงไฟฟ้าและสายส่งเพื่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อเงินเดือนของพนักงานแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.กู้เสริมสภาพคล่องไปแล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มเครดิตไลน์ 3 หมื่นล้านบาท และจะกู้เพิ่มอีก 8.5 หมื่นล้านบาท โดย กฟผ. ก็อยากร่วมรับภาระค่าเอฟทีแก่ประชาชน แต่ก็คงไม่สามารถทำได้มากกว่านี้ ซึ่งต้องเข้าใจว่าเป็นสถานการณ์โลก และแนวทางของรัฐบาล คือ หากประชาชนร่วมประหยัดไฟฟ้ามากที่สุด ก็จะทำให้พึ่งพาแอลเอ็นจีนำเข้าน้อยที่สุด เป็นผลดีต่อค่าไฟฟ้าเอฟที

ต้นทุนค่าเอฟทีที่แพงขึ้น มาทั้งจากปัจจัยเชื้อเพลิงราคาสูง และบาทอ่อนค่า โดยเชื้อเพลิงราคาสูงก็มาจากสถานการณ์ทั้งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยไม่เพียงพอ เกิดจากแหล่งเอราวัณผลิตได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้าสูง จากเดิมสัดส่วนร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 35 ในขณะที่สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็มีผลทำให้แอลเอ็นจีราคาพุ่งอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ต้นทุนเชื้อเพลิงให้สูงขึ้น

ที่ผ่านมา กฟผ.ร่วมรับภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้า ตั้งแต่งวด 3/64 (ก.ย.-ธ.ค.64) และร่วมรับภาระเรื่อยมาในงวด 1/65 (ม.ค.-เม.ย.) และงวด 2/65 (พ.ค.-ส.ค.) เป็นเงินรวมกับอัตราดอกเบี้ยที่กู้เสริมสภาพคล่อง แล้วราว 1 แสนล้านบาท กฟผ. จึงได้แจ้งต่อ กกพ. ไม่สามารถร่วมรับภาระในเอฟที งวด3/65 ได้อีก ส่วนการชำระคืนเงินแก่ กฟผ. ก็แล้วแต่ กกพ.พิจารณาว่าจะกำหนดช่วงเวลาคืน 1 ปี หรือ 2 ปี โดยที่ผ่านมา ทางกระทรวงพลังงาน และ กกพ. ต่างร่วมพิจารณากันว่า การให้ กฟผ. มาร่วมรับภาระก่อนและจ่ายคืนเงินให้ กฟผ. ภายหลัง จะเป็นการร่วมลดภาระค่าเอฟทีแก่ประชาชน ซึ่งเกิดในช่วงต้นทุนเชื้อเพลิงเริ่มแพงขึ้นในช่วงราคาพลังงานฟื้นตัวจากโควิด-19 ในงวด 3/64 แล้ว หลังจากนั้นคาดว่าเมื่อต้นทุนเชื้อเพลิงถูกลงแล้วจะมาทยอยชำระคืนแก่ กฟผ. ภายหลัง แต่เมื่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้น ราคาก็ไม่เป็นไปตามคาดการณ์แต่อย่างใด