กระทรวงพาณิชย์เผยเงินเฟ้อ ต.ค.63 ติดลบ 0.5% จากปีก่อน

602
0
Share:

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อทั่วไป ต.ค. 63 ติดลบ 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 0.7% ขณะที่ 10 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.94%
.
โดยยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ที่ติดลบ 0.7% ถึงติดลบ 1.5% ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 0.19% และ 10 เดือน อยู่ที่ 0.31%
.
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค.ที่ปรับดีขึ้น เป็นตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศที่มีต่อเนื่อง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ประกอบกับผลผลิตพืชผักได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้ยังหดตัวแต่ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน
.
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไข่และผลิตภัณฑ์นม หมวดเคหะสถาน หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ปรับตัวลดลง
.
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี (พ.ย.-ธ.ค.) มองว่าจะติดลบน้อยลง โดยทั้งไตรมาส 4/63 คาดว่าจะติดลบน้อยกว่า 0.4%
.
จากตัวเลขที่ติดตามดูตอนนี้ ทั้งแนวโน้มในไตรมาส 4 ก็เชื่อว่าทั้งปีเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ -8.5% โดยยังมีปัจจัยที่ติดตาม คือ ราคาน้ำมัน อาหารสดที่ยังเป็นตัวแปรสำคัญ
.
แนวโน้มเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับดีขึ้น โดยคาดว่าจะหดตัวในอัตราที่น้อยลง ตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเพิ่มวันหยุด โครงการเที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน และโครงการคนละครึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบในช่วงที่เหลือของปี
.
นอกจากนี้ ราคาอาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้สด ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ
.
สำหรับสมมติฐานในการคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ โดยคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ติดลบ 7.6 ถึงติดลบ 8.6% โดยอ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น้ำมันดิบดูไบทั้งปี 35-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งปี 30.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์