กลุ่มไมเนอร์ยักษ์ธุรกิจโรงแรมในไทยแจง 7 ข้อเยียวยาต้องเปิดประเทศ-เลิกกักตัวต่างชาติ-หนุนจ่ายค่าจ้างพนักงาน

446
0
Share:

นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เกี่ยวกับเรื่องข้อเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยระบุว่าท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงถึงกว่า 2,000 รายต่อวัน และผู้เสียชีวิตรายวันแตะเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลกำลังเผชิญกับแรงกัดดันอย่างหนักที่ต้องทำหน้าที่นำพาประเทศไทยให้สามารถก้าวผ่านจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวของไทยจำเป็นต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด โดยอาศัยรายได้จากตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียวเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจและการดำเนินกิจการ

.

บริษัทไมเนอร์ฯ จึงใคร่เรียนขอให้ท่านพิจารณาข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นรวม 7 ข้อดังต่อไปนี้

1. เร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างเร่งด่วน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยควรได้รับวัคซีนภายในปีนี้  และรัฐบาลไทยควรสนับสนุนให้สถานทูตต่างประเทศในประเทศไทยให้ความช่วยเหลือเรื่องวัคซีนกับประชากรของตนเองอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีการสั่งวัคซีนมาใช้ในปริมาณที่เกินความต้องการ

2. อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว โดยการยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง ซึ่งการลดระยะเวลาการกักตัวลงเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวได้ ยิ่งไปกว่านั้นการยกเลิกการกักตัวไม่ควรจำกัดอยู่แค่เพียงบางพื้นที่ แต่ควรถูกบังคับใช้ในทุกพื้นที่ของประเทศ

ทั้งนี้ หวังว่ารัฐบาลจะยังคงยึดมั่นกับ โครงการ Phuket Tourism Sandbox ซึ่งมีกำหนดเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต แบบไม่มีการกักตัวในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จากความพยายามในการเร่งกระจายวัคซีนของภูเก็ต ทำให้เชื่อได้ว่าโครงการนี้จะยังสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ โดยความสำเร็จของโครงการนำร่องนี้จะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเปิดประเทศอีกครั้ง และรัฐบาลควรดำเนินการผ่านกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเจรจาทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศต่างๆ เพื่ออนุญาตให้ประชาชนของทั้งสองประเทศ ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว สามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกักตัว

3. เร่งสรุปรายชื่อวัคซีนโควิด-19 ที่จะได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้งานได้ในวัคซีนพาสปอร์ต รวมถึงผ่อนปรนมาตรการวีซ่า  โดยเร่งดำเนินการจัดระบบเพื่อรองรับการใช้งานของวัคซีนพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย และประเทศไทยควรยอมรับหลักฐานการฉีดวัคซีนจากวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองในระดับสากลให้ได้มากที่สุด

4. จัดให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรี หรือการตรวจในราคาถูก สำหรับประชาชน เพราะการรู้ว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อ การติดเชื้อเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน เป็นสิ่งสำคัญในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรค  การตรวจหาเชื้อในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ถือเป็นเสมือนปราการด่านแรกในการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน

5. สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสนับสนุนองค์กรในชุมชนต่างๆ เสริมสร้างความรู้สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญ ความเร่งด่วนและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนต่างๆ ควรได้รับการเปิดเผยอย่างทันท่วงทีและด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

6. ออกมาตรการเงินสนับสนุนค่าจ้างพนักงานสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่มีพนักงานอยู่ในระบบประกันสังคม ถึงแม้ว่าตามเอกสารแล้วสถานภาพการจ้างงานของพนักงานเหล่านี้อาจจะยังถูกระบุว่าอยู่ในระหว่างการจ้างงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว พนักงานโรงแรมจำนวนมากในเวลานี้กำลังเผชิญกับการลดลงของรายได้อย่างมีนัยสำคัญ และโรงแรมหลายต่อหลายแห่งก็ต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

7.ขยายเวลาการอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิ โดยรัฐบาลควรพิจารณาขยายเวลาการอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิอาจจะเกิดขึ้นในปีต่อไปอีก 5 ปี จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 5 ปี เป็น 10 ปี เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้นก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด และคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับสู่สภาวะเดิม

.

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลอาจควรพิจารณาเพื่อบังคับใช้ เช่น การลดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงการขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ต่อไปอีก 2 ปี พิจารณาการลดอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งถือเป็นการให้ส่วนลดกับผู้บริโภคโดยตรงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นต้น

.

ทั้งนี้ จดหมายดังกล่าวได้ทำสำเนาถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) หอการค้าไทย รวมถึงนายกสมาคมโรงแรมและสมาคมท่องเที่ยว นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และรองประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย และนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต