กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีร้องนายกฯ เยียวยาไม่ทั่วถึง จี้ช่วยเหลือเป็นเงินสด

727
0
Share:

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี นำโดยน.ส.ธนพร วิจันทร์ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ทวงถามมาตรการเยียวยา เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นผลมาจากการความผิดพลาดของรัฐบาลที่ไม่สามารถเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมในการควบคุมโรคระบาด พร้อมกับพยุงความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชนเอาไว้ได้
.
ทั้งนี้ การะบาดระลอกใหม่มีผู้ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งเด็กนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองที่ต้องทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home ไปพร้อมกับดูแลบุตรหลาน ทำให้ต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น
.
ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าไม่ได้ โรงงานหลายแห่งถูกปิดชั่วคราว คนงานถูกปรับลดเงินเดือน ไม่ได้รับค่าจ้างหรือได้รับค่าจ้างไม่เต็มจำนวน รวมถึงถูกให้ออกจากงาน และย้ายอาชีพมาทำงานที่ไม่มั่นคงมากขึ้น ไม่มีสวัสดิการรองรับ รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ทำหน้าที่อย่างหนักมาตั้งแต่การระบาดครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว
.
น.ส.ธนพร ระบุว่า รัฐบาลกลับมีมาตรการเยียวยาผู้เดือดร้อนเพียงบางส่วน เหมือนกับให้ประชาชนชิงโชค แย่งกันรับสวัสดิการ โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงจากผู้ที่มีความเดือดร้อน โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลหญิงที่ต้องทำงานหนักโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน รวมไปถึงกรณีที่ไม่มีสามีและลูก จึงถูกขอร้องให้ทำงานล่วงเวลาในช่วงโรคระบาดโควิด-19
.
โดยทางกลุ่มฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยจ่ายเป็นเงินสด เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าถึงสำหรับประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ต และรัฐต้องจัดหางบประมาณแผ่นดินส่วนอื่นมาเยียวยาประชาชน โดยไม่นำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาใช้เด็ดขาด เพราะเงินประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการใช้อยู่แล้ว รัฐต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กลูกคนงานในย่านอุตสาหกรรม และชุมชน โดยไม่ต้องคำนึงถึงการมีทะเบียนบ้านในพื้นที่ พร้อมกับรัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564
.
นอกจากนี้ รัฐต้องมีมาตรการเรื่องการแก้ไขละเมิดสิทธิแรงงานโดยอ้างเหตุโควิด-19 เพราะที่ผ่านมา มีการเลิกจ้างผู้นำแรงงานหญิง โดยอ้างเหตุโรคระบาด เพื่อปิดบังเจตนาที่แท้จริงของนายจ้างที่ต้องการขัดขวางกระบวนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน
.
ขณะเดียวกัน รัฐต้องมีมาตรการแก้ไข ปราบปราม ป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเร่งด่วน สร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ ให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม