กสิกรไทยจับตาปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท กระทุ้งเงินเฟ้อ คงจีดีพีปี 66 โต 3.7%

160
0
Share:
กสิกรไทย จับตาปรับขึ้น ค่าแรง 450 บาท กระทุ้ง เงินเฟ้อ คงจีดีพีปี 66 โต 3.7%

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการเติบโตจีดีพีทั้งปี 2566 อยู่ที่ 3.7% โดยแรงขับเคลื่อนมาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 28.5-30 ล้านคน หากนับตั้งแต่ต้นปี-เมษายน 2566 มีท่องเที่ยวเข้ามาแล้วประมาณ 8.6 ล้านคน และในไตรมาสที่ 1/2566 มียอดใช้จ่ายภาคท่องเที่ยวอยู่ที่ 6.35 หมื่นล้านบาท แม้ว่าตัวเลขยังห่างจากช่วงก่อนโควิด-19 แต่แนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า และดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวกได้ ส่วนการลงทุนภาครัฐจะยังขยายตัวได้ 2.3% แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะมีผลต่องบประมาณการลงทุน

ทั้งนี้หากหากดูในช่วงปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร จะเห็นว่างบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 2.88 แสนล้านบาท และหลังจากมีการรื้องบประมาณและจัดตั้งรัฐบาล พบว่าตัวเลขการลงทุนทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.60 แสนล้านบาทต่อปี หรือขยายตัวเฉลี่ยกว่า 2% ต่อปี และสัดส่วนการเบิกจ่ายจะเฉลี่ยอยู่ที่ 74% ของงบประมาณที่ตั้งไว้

ขณะที่นโยบายพรรคการเมืองที่ต้องการปรับค่าแรงขึ้น 450 บาทต่อวัน มองว่าอาจจะกระทบต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศเวียดนาม และหากมีการเร่งเรื่องของรายได้มากขึ้น อาจจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อมูลพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และเงินเฟ้อมีสูงถึง 90%

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในอีก 1 เดือนข้างหน้าจะมีความผันผวนมากขึ้น โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-35.40 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากต้องรอดูธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในการประชุมในเดือนมิถุนายนจะออกมาในลักษณะใด

อย่างไรก็ดี กสิกรไทยคาดว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน โดยแนวโน้มการเคลื่อนย้ายเงินทุน (ฟันด์โฟลว์) จะเริ่มเห็นทิศทางไหลกลับเข้ามาหลังการประชุมในเดือนกันยายน คาดว่าจะไหลเริ่มไหลเข้าตลาดเอเซียในไตรมาสที่ 3/2566 และภายในไตรมาสที่ 4/2566 จะเริ่มเห็นสัญญาณเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าตลาดไทย ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภาคการท่องเที่ยวของไทยที่มีอัตราการขยายตัวได้ดี เพราะเป็นช่วงฤดูกาลการท่องเที่ยว ทำให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนให้ความสนใจตลาดไทย จึงประเมินกรอบค่าเงินบาทสิ้นปี 2566 แข็งค่าอยู่ที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์