การบินไทยเผยเดินหน้ากู้เงิน 25,000 ล้านบาท ขอ 5 ปี กลับมามีกำไร

596
0
Share:
การบินไทย เผยเดินหน้า กู้เงิน 25,000 ล้านบาท ขอ 5 ปี กลับมามีกำไร

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดหาสินเชื่อใหม่วงเงิน 25,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 นั้น คาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดยบริษัทฯ จะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายภายในเดือนมีนาคมนี้เช่นเดียวกัน

การจัดหาสินเชื่อใหม่นั้น ปัจจุบันมีสถาบันการเงิน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารออมสิน ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายเดิมมีความเห็นสอดคล้องกับบริษัทฯ ในการจัดหาสินเชื่อใหม่ โดยธนาคารกรุงเทพจะเป็นผู้จำหน่ายหลักทรัพย์ หรืออันเดอร์ไรท์เตอร์ (Underwriter)

ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย กล่าวต่อไปว่า การจัดหาสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาทจากภาคเอกชนส่วนนี้ชัดเจนแล้ว สำหรับของภาครัฐอีก 25,000 ล้านบาทจะตัดออกไปและคงมีการแก้ไขแผนใหม่ ขณะนี้ประเมินว่าสินเชื่อวงเงินนี้จะเพียงพอต่อการฟื้นฟูธุรกิจ เพราะการบินไทยสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายไปได้มาก เชื่อว่าทุนที่เราจะได้มาใหม่นี้ จะทำให้การบินไทยมีผลประกอบการกลับมาเป็นบวกก่อนกำหนดใน 5 ปี

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ประเทศต่างๆ ในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเมื่อปลายปี 2564 และเมื่อรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 จึงส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรวมต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 311 คนในเดือน ต.ค.เป็น 1,067 และ 2,559 คน ในเดือน พ.ย.และเดือน ธ.ค. 2564 ตามลำดับ

ในขณะเดียวกันมาตรการผ่อนคลายในประเทศก็ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์ เพิ่มขึ้นมากจาก 2,623 คนต่อวัน ในเดือน ก.ย. 2564 เป็น 9,536 คนต่อวัน ในเดือน ธ.ค. 2564 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับ เพียง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯ สามารถให้บริการตามปกติ

ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมฯ โดยการยกเลิกมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.2564 ทำให้จำนวนผู้โดยสารต่อวันของบริษัทฯ ในเดือน ม.ค.และ ก.พ.2565 ลดลงกว่า 20% จากในเดือน ธ.ค.2564 อย่างไรก็ดี การที่ภาครัฐนำมาตรการ Test and Go มาใช้อีกครั้งหนึ่ง และประเทศปลายทาง อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง นับเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

กานบินไทยจึงมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่างๆ อาทิ ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ และเปิดให้บริการสู่จุดหมายปลายทางใหม่เพิ่มเติม อาทิ เมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย และจุดหมายปลายทางในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นี้เป็นต้นไป ในขณะที่สายการบินไทยสมายล์ได้เปิดให้บริการในเส้นทางร้อยเอ็ดและตรังจากสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเปิดให้บริการจากสนามบินดอนเมืองไปยังเชียงใหม่ในเดือน ก.พ.นี้

ทั้งนี้ การบินไทยมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการหารายได้ด้านการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์และบริการคลังสินค้า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้หลักแก่บริษัทฯ ในช่วงที่การขนส่งผู้โดยสารยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้รวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 50% ของรายได้รวมของบริษัทฯ ในปี 2564 ที่ผ่านมา