ขายของออนไลน์ในไทยปี 65 ฟุบกว่า 20% ตกต่ำในรอบ 3 ปี สารพัดปัจจัยลบพรึบ

601
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความไม่แน่นอนของโควิด-19 และผลกระทบจากสถานการณ์ในยูเครนที่อาจยืดเยื้อ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้คาดว่าปี 2565 ธุรกิจ B2C E-commerce กลุ่มสินค้า แม้อาจขยายตัวราว 13.5% คิดเป็นมูลค่าตลาดราว 5.65 แสนล้านบาท แต่เป็นการขยายตัวที่ชะลอลงและต่ำสุดเทียบกับ 3 ปีก่อนที่ขยายตัวเฉลี่ย 40% ต่อปี

อีกทั้งผู้บริโภคมีการวางแผนปรับลดการใช้จ่ายผ่านหน้าร้านมาเป็นการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ภายใต้งบประมาณที่ยังคงจำกัดหรือไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าอาหารและของใช้ส่วนตัวที่เดิมทีผู้บริโภคมักซื้อผ่านหน้าร้าน สะท้อนจากยอดขายของผู้ประกอบการค้าปลีกบางรายที่ยอดขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในปีที่ผ่านมาโต 2-3 เท่าตัว แต่ยอดขายในภาพรวมกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักหรือโตในกรอบจำกัด (และเป็นผลของราคาเป็นหลัก) ทั้งนี้ คาดว่าส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจ B2C E-commerce กลุ่มสินค้าจะขยับเพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2564 เป็น 16% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดค้าปลีกสินค้ารวมทั้งหมด

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ค่าขนส่งสินค้าที่อาจจะแพงขึ้นตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาพรวมการเติบโตของธุรกิจ E-commerce ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องวางแผนรับมือปัจจัยท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการออนไลน์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

โดยผลสำรวจพบว่ากว่า 56% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยังคงไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพสินค้าและความน่าเชื่อถือของร้าน และอีกกว่า 41% อยากให้มีการพัฒนาการให้บริการของพนักงานขาย พนักงานจัดส่ง

นอกจากนี้ แนวโน้มการหดตัวของประชากรไทยในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่จะทำให้การบริโภคหรือการใช้จ่ายในภาคค้าปลีกเปลี่ยนแปลงไปหรือเติบโตได้จำกัด และน่าจะทำให้การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกรุนแรงขึ้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะนำว่า ผู้ประกอบการ E-commerce อาจมองหาตลาดใหม่ และขยายช่องทางการตลาดไปยัง Cross-border E-commerce ซึ่งน่าจะตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศได้มากขึ้น แต่ต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคและกฎระเบียบเงื่อนไขต่างๆ ในการทำธุรกิจ Cross-border E-commerce ของแต่ละประเทศให้ชัดเจน