คณบดีศิริราชเผยไม่ควรรอวัคซีนทางเลือก ฉีดวัคซีนสลับปลอดภัย บูสเตอร์เข็ม 3 องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำ

618
0
Share:

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย ขณะนี้เป็นสายพันธุ์เดลตา ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของไวรัสที่มีการพัฒนาเชื้อตัวไหนมีการแพร่ได้เร็วสายพันธุ์นั้นจะคงอยู่ โดยสายพันธุ์เดลตาแพร่เร็วกว่าอัลฟา 1.4 เท่า และทั่วโลกขณะนี้ก็เริ่มไม่พบสายพันธุ์อู่ฮั่นแล้ว ส่วนการพบคนงานในแคมป์ก่อสร้างใน กทม.แห่งหนึ่งมีคนติดเชื้อโควิด 2 สายพันธุ์ในคนเดียวนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ การจับคู่ในสายพันธุ์ที่มีความคล้ายคลึงกันไม่น่ากลัว อย่างเช่นที่พบสายพันธุ์อัลฟา และเดลตา แต่หากเป็นการจับคู่สายพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน เช่นสายพันธุ์เดลตากับเบตา อันนั้นก็น่ากลัว แต่จนขณะนี้ยังไม่มีรายงานถึงรายละเอียดเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากพบได้น้อยแต่ก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะยังไม่สามารถระบุสาเหตุปัจจัยของการจับคู่ได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้ไวรัสโควิดพบว่ามีการกลายพันธุ์มีเป็นพันๆ ตัว และแน่นอนเมื่อมีการกลายพันธุ์ย่อมส่งผลกระทบต่อวัคซีน ขณะนี้ทั่วโลกผู้ผลิตวัคซีนกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนเจนเนอเรชัน 2 ที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปลอดภัยกว่าเดิม โดยบางบริษัทก็นำเอาเอไอเข้ามาจับ เพื่อหวังทั้งประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ และมีความปลอดภัย คาดว่าวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาเจนเนอเรชัน 2 นี้ จะเริ่มฉีดได้จริงต้นปีหน้า 2565 ดังนั้นขณะนี้ไม่อยากให้ประชาชนกังวล หรือรอเลือกวัคซีนถึงจะฉีด เพราะในจำนวนคนป่วยของ รพ.ศิริราช ที่เป็นผู้ป่วยหนัก ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแค่ 1 เข็ม ยังไม่ครบ 2 เข็ม บางคนก็ยังไม่รับวัคซีนเพราะอยากรอวัคซีนทางเลือก m-RNA ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ทั้งที่ความจริงตนเองมีโรคร่วม ไม่ควรรอ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ควรฉีด วัคซีนก่อน จากนั้นค่อยฉีดกระตุ้นในภายหลังได้

ทั้งนี้ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 โดยปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของแต่ละประเทศ ซึ่งในส่วนของไทยก็เห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องให้บุคลากรด่านหมอพยาบาลก่อน โดยกำหนดว่าต้องต่างชนิดกันกับของเดิม ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นทีเซลล์ให้มาใช้ดักจับไวรัสและสร้างภูมิคุ้มกัน โดยพบว่าวัคซีนแบบไวรัลเวกเตอร์ กระตุ้นและสร้างภูมิได้ดี ส่วนการฉีดวัคซีนสลับชนิดกันนั้นก็มีการศึกษาทั้งใน มหาวิทยาลัยของไทย 4 แห่ง และในต่างประเทศตรงกันว่าช่วยกระตุ้นและสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี