คลังชี้กลุ่มโอเปกห่วงโควิดกระทบกลุ่ม SME หนักสุด

3018
0
Share:

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก (APEC Virtual Finance Ministers’ Meeting: APEC VFMM) ครั้งที่ 27 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 25 ก.ย.63 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นดังนี้
.
1) การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศ ระบบห่วงโซ่อุปทาน ความผันผวนของตลาดการเงิน ฐานะทางการคลัง และปัญหาการว่างงาน
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มีต่อวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) และจากการที่สมาชิกเอเปกดำเนินนโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อการรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ความโปร่งใสและความยั่งยืนทางการคลังเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญ
.
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ที่ได้ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับแต่ พ.ศ. 2473 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง
.
โดยเมื่อพิจารณาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการนำมาใช้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก จะฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2564 และกลุ่มธนาคารโลกคาดการณ์ตัวเลขคนยากจนมากจะเพิ่มจาก 100 ล้านคนในปี 2563 เป็น 150 ล้านคน ในปี 2564
.
2. สมาชิกได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือและใช้มาตรการต่าง ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 เพื่อที่เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ จะนำไปพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสม โดยผู้แทนไทยได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงมาตรการด้านการคลังและการเงินในการรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการให้เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภค การขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
.
และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับโครงสร้างหนี้ และการออกกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น
.
ทั้งนี้ สมาชิกแสดงให้เห็นว่า ทุกเขตเศรษฐกิจดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยต่างให้ความสำคัญกับการรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพื่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับไทยที่ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยระดับหนี้สาธารณะของไทยยังคงอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางการคลัง โดย 98% ของแหล่งเงินกู้มาจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ