คลาวด์หืดจับ! อาลีบาบายักษ์แพลตฟอร์มออนไลน์ปลดพนักงานกว่า 7% ครั้งสองใน 1 ปี

223
0
Share:
คลาวด์หืดจับ! อาลีบาบา ยักษ์แพลตฟอร์มออนไลน์ ปลดพนักงาน กว่า 7% ครั้งสองใน 1 ปี

อาลีบาบา แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีนแผ่นดินใหญ่ ประกาศปลดพนักงานราว 7% ของพนักงานที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน นับเป็นการปลดพนักงานครั้งแรกในปีนี้ และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 ปีเศษ สำหรับพนักงานที่เข้าข่ายถูกปลดออกในรอบนี้เป็นพนักงานในกลุ่มธุรกิจบริหารจัดการเก็บรักษาข้อมูลในระบบคลาวด์

สาเหตุจากอาลีบาบาเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจและควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายก่อนที่จะนำธุรกิจใน 4 กลุ่มย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเร็วๆนี้

ด้านผลประกอบการในกลุ่มธุรกิจคลาวด์ พบว่า ในไตรมาสที่ 1 มีรายได้ 2,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 91,460 ล้านบาท ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2022 อาลีบาบา แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีนแผ่นดินใหญ่ ประกาศลดค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ด้วยการปลดพนักงานในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา จำนวน 9,241 คนในเมืองหางโจว ลงมาเหลือที่ 245,700 คน ส่งผลให้จำนวนพนักงานที่ต้องตกงานในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มเป็น 13,616 คน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี 4 เดือน หรือนับตั้งแต่มีนาคม 2016 เป็นต้นมาที่อาลีบาบามีจำนวนพนักงานลดลง

ในขณะเดียวกัน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัทที่มีอายุมาถึง 23 ปี โดยก่อตั้งในปี 1999

อาลีบาบา เปิดเผยว่า ผลประกอบการด้านรายได้สุทธิลดลงเหลือ 22,740 ล้านหยวน หรือ 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 122,400 ล้านบาท นั่นหมายถึงรายได้สุทธิตกต่ำหนักถึง -29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้วที่มีรายได้สุทธิที่ 45,140 ล้านหยวน หรือราว 225,700 ล้านบาท สอดคล้องกับด้านกำไรสุทธิลดลงรุนแรงถึง -50% ลงมาเหลือเพียง 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 122,400 ล้านบาท

สาเหตุจากนายมาร์วิน เฉิน นักวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence เปิดเผยว่า บริษัเทคโนโลยีจากจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านกฎระเบียบเพิ่มขึ้นโดยไตรมาสที่ 2 ปีนี้ จะเป็นหนึ่งในไตรมาสที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ นโยบายไม่อยู่ร่วมกับโรคระบาดโควิด-19 ได้สร้างอุปสรรค ข้อจำกัด และปัญหาอย่างมากมายที่กระทบต่อภาคธุรกิจเอกชนทั้งของชาวจีน และบริษัทต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการผลิต ซึ่งนำไปสู่ปัญหาคอขวดของห่วงโซ่การผลิต นอกจากนี้ ยังกระทบต่อกำลังซื้อที่ตกต่ำลงจากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ปัญหาหนี้เสียในระบบอสังหาริมทรัพย์ของจีนแผ่นดินใหญ่