งานวิจัยแบงก์ชาติชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยงรุมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาการเมือง

609
0
Share:

ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ออกบทวิจัย เรื่อง เศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอน: ปรับกระบวนทัพ รับความท้าทาย โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วนและสร้างความท้าทายให้กับผู้วางนโยบายทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งไม่มีใครทราบว่าวิกฤติโควิดจะจบลงเมื่อไร การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะใช้เวลายาวนานแค่ไหน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโควิดจะเปลี่ยนไปอย่างไร
.
โดยดัชนีบ่งชี้ระดับความไม่แน่นอนใน 4 ด้านหลัก คือ
.
1) ความไม่แน่นอนทางนโยบายเศรษฐกิจโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มพุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และวิกฤติโควิดในปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีความไม่แน่นอนทางนโยบายเศรษฐกิจพุ่งสูงขึ้นมากที่สุด
.
2) ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลังของไทยมีการประทุขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น การเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองที่เข้ามาบริหารเศรษฐกิจ ความขัดแย้งในการออกมาตรการดูแลเงินบาท และความไม่แน่นอนของมาตรการภาครัฐในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด
.
3) ความไม่แน่นอนด้านภาวะเศรษฐกิจ พบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงสามช่วงคือ ช่วงวิกฤติการณ์การเงินโลกในปี 2551 ช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และช่วงวิกฤติโควิดในปัจจุบัน
.
4) ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยมีการประทุขึ้นอย่างรุนแรงหลายครั้งในช่วงปี 2549-2557 และกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2563
.
โดยเมื่อประเมินผลกระทบของความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย พบว่า การสูงขึ้นของความไม่แน่นอนมีผลทางลบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยการลงทุนภาคเอกชนและภาคการส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
.
ที่สำคัญความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากไทยได้เผชิญกับการขาดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีถึง 6 คนและการปฏิวัติรัฐประหารถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาเพียง 8 ปี โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงปี 2549-2557 ส่งผลให้การผลิตในประเทศหายไปกว่า 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564
.