จุฬามาล่ะ! ผลการพัฒนาวัคซีน Chula-Cov19 น่าพอใจ รีบพัฒนาป้องกันโควิด 2 สายพันธุ์ดื้อ

617
0
Share:
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าผลศึกษาการทดลอง วัคซีน Chula-Cov19 ใน “หนู” พบว่า มีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ และจะเริ่มทดลองใช้ในมนุษย์ในเดือนมิถุนายน 2564 นอกจากนี้ วัคซีน Chula-Cov19 กำลังจะถูกพัฒนาเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในสายพันธุ์ B.1.351 (สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ เบตา) และสายพันธุ์ B.1.1.7 (สายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟา)
.
วัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 Chula-Cov19 เป็นวัคซีนผลิตโดยใช้เทคโนโลยี mRNA เหมือนกับเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนโมเดอร์นา ความคืบหน้าล่าสุด ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการใช้งานในมนุษย์ระยะที่ 1 จากกลุ่มอาสาสมัคร 100 คน โดยจะทำการศึกษาทั้งสิ้น 3 ระยะ
.
ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัคซีน Chula-Cov19 เป็นการสังเคราะห์รหัสคำสั่งโดยใช้ชิ้นส่วนพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ส่วนที่เป็นปุ่มหนามของโปรตีน เมื่อฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย เซลล์จะทำการสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อโควิด-19 ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อจดจำและตอบโต้เชื้อโควิด-19 รหัสคำสั่งที่เรียกว่า mRNA (messenger Ribonucleic Acid นี้จะเป็นคำสั่งชั่วคราว เมื่อทำหน้าที่เรียบร้อย จะสลายไปภายในไม่กี่วัน จึงไม่มีการสะสมในระยะยาวแต่อย่างใด
.
ในด้านการเก็บรักษา และการขนส่งวัคซีน Chula-Cov19 นั้น สามารถเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้อย่างน้อย 3 เดือน และสามารถเก็บที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ได้อย่างน้อย 2 อาทิตย์ จึงสะดวกในการขนส่งและการใช้งานในทุกที่