ชีวิตปกติ! บริการส่งอาหารในไทยส่อหดตัวแรงช่วงปลายปี 2565 ผ่าน 8 เดือนแรกโตแต่ชะลอตัว

374
0
Share:
ชีวิตปกติ! บริการส่งอาหาร ในไทยส่อหดตัวแรงช่วงปลายปี 2565 ผ่าน 8 เดือนแรกโตแต่ชะลอตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก (Food Delivery) เติบโตขึ้นหลายเท่าตัวจากหลายปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งหากไล่เรียงมาคือ การระบาดของโควิดหลายระลอกตั้งแต่ปี 2563 ถึงครึ่งแรกปี 2565 ผลักดันให้พฤติกรรมผู้บริโภคจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนภายใต้ข้อจำกัดในการใช้ชีวิตและการทำงาน นอกจากนี้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มได้ขยับขยายการให้บริการไปครอบคลุมหลายพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นหัวเมืองเศรษฐกิจ เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น พิษณุโลก เป็นต้น ซึ่งปัจจัยนี้ช่วยกระตุ้นให้ตลาดเติบโตเร่งขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงแรงหนุนจากการปลดล็อกให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ของภาครัฐภายใต้มาตรการคนละครึ่งได้ตั้งแต่ปลายปี 2564 (คนละครึ่งเฟส 3 เริ่มใช้ผ่าน Food delivery ได้เมื่อ 4 ตุลาคม 2564)

ปัจจัยทั้งหมดสะท้อนจากเครื่องชี้ดัชนีปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น (Order) ของ LINE MAN Wongnai ที่ในช่วงปี 2563-2564 ขยายตัวกว่า 2-4 เท่าตัวจากก่อนโควิดหรือปี 2562 อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า ดัชนีปริมาณการสั่งอาหารเริ่มมีสัญญาณการเพิ่มในอัตราที่ชะลอลงในปี 2565 แม้โดยเฉลี่ย 8 เดือนแรกจะยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 76% จากช่วงเดียวกันปีก่อนก็ตาม

ทั้งนี้ ดัชนีให้ภาพที่ชะลอลงเช่นกันสำหรับใน 10 เขตที่มีการใช้บริการสูงสุดของทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล และต่างจังหวัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาด Food Delivery ในช่วงข้างหน้ามีแนวโน้มเผชิญความท้าทายมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่บรรเทาลง ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นอีกครั้ง ทำให้ดัชนีปริมาณการสั่งอาหารน่าจะมีข้อจำกัดของการเติบโต ซึ่งทิศทางนี้ไม่แตกต่างมากนักจากธุรกิจออนไลน์อื่นๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ เป็นต้น ที่ได้รับแรงกระตุ้นอย่างมากในช่วงโควิดและอัตราการขยายตัวเริ่มชะลอลงเมื่อโควิดคลี่คลาย

โดยเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2565 ดัชนีปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นอาจหดตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าด้วย ส่งผลให้ทั้งปี 2565 นี้ ดัชนีอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 44%

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลลงระดับพื้นที่ พบว่า ในเขตที่มีปริมาณการใช้บริการสูงสุด 10 อันดับแรกสำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑล อาทิ เมืองนนทบุรี สมุทรปราการ คลองหลวง เป็นต้น

ดัชนีปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นจะค่อนข้างทรงตัวหรือชะลอลงน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในเขตพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่นและยังมีการ WFH ยังคงเลือกใช้บริการ Food Delivery ที่เน้นตอบโจทย์ด้านความสะดวกสอดรับกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและการทำงานยุคใหม่

ข้อมูลข้างต้น น่าจะเป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวช่วยสำหรับผู้ประกอบการในการนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วงข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทรัพยากรและการลงทุนของแพลตฟอร์ม เช่น การบริหารจัดการทราฟฟิก/ไรเดอร์ การออกแบบโปรโมชั่น การให้การสนับสนุนร้านอาหารที่อยู่ในแพลตฟอร์ม เป็นต้น รวมถึงร้านอาหาร โดยแม้การรักษาปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นในภาพรวมน่าจะยากขึ้น แต่ช่องทางการขายนี้ ยังนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญความท้าทายเรื่องการแข่งขันและต้นทุนที่สูงทั้งค่าจ้างแรงงาน วัตถุดิบและเชื้อเพลิง