ช้อปปี้อาการหนักปลดพนักงานเกือบ 10% ในจีนแผ่นดินใหญ่ วานนี้ปลดในอินโดนีเซีย

361
0
Share:
ช้อปปี้ อาการหนัก ปลดพนักงาน เกือบ 10% ในจีนแผ่นดินใหญ่ วานนี้ปลดในอินโดนีเซีย

ซี หรือ Sea บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดในธุรกิจอินเตอร์เน็ตของอาเซียน และเป็นเจ้าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซชื่อดังมีชื่อว่าช้อปปี้ หรือ Shopee เปิดเผยว่า เตรียมปลดพนักงานช้อปปี้เกือบ 10% ในแต่ละแผนกของช้อปปี้ในจีนแผ่นดินใหญ่ สาเหตุจากผลประกอบการในไตรมาส 2 ปีนี้ของบริษัท ซี ถึงแม้จะมีรายได้เติบโต 29% แต่โดยสุทธิแล้ว พบว่ามีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ขณะที่เมื่องานนี้ 19 กันยายน 2565 ช้อปปี้ ประกาศเตรียมปลดพนักงานราว 3% ของทั้งหมดในอินโดนีเซีย หลังจากผลการดำเนินงานอีคอมเมิร์ซของช้อปปี้ในอินโดนีเซียไม่เป็นไปตามคาด ยังคงมีผลประกอบการขาดทุนเกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 ซี หรือ Sea เปิดเผยต่อพนักงานด้วยการส่งอีเมลว่า ได้ตัดสินใจปิดและถอนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศอาเจนติน่า รวมถึงปลดพนักงานทั้งหมดในอาเจนติน่า ในขณะที่จะตัดลดขนาดการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศชิลี โคลอมเบีย และเม็กซิโก โดยจะปลดพนักงานในทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังคงดำเนินกิจการอีคอมเมิร์ซในประเทศบราซิล เนื่องจากเป็นตลาดออนไลน์ที่ช้อปปี้ยังคงเป็นผู้นำ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคมในปีนี้ ช้อปปี้ประกาศปิดกิจการในประเทศฝรั่งเศส และอินเดีย ต่อมาในเดือนมิถุนายน ช้อปปี้ ประกาศปลดพนักงานใน 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ แลบริการจัดส่งอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อพนักงานกว่า 300 คนในช้อปปี้ที่ประเทศไทยต้องตกงาน นอกจากนี้ยังปลดพนักงานใน 2 ธุรกิจดังกล่าวในประเทศอื่นๆในอาเซียน และละตินอเมริกาด้วย

ช้อปปี้ได้ประกาศยกเลิกการรับพนักงานใหม่ที่ได้รับการยืนยันรับเข้าทำงานที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อช่วงกว่า 3 สัปดาห์ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มบริษัทซี

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ช้อปปี้ นายคริส เฟ็ง เปิดเผยว่า จากสาเหตุของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง ทำให้ช้อปปี้ต้องกลับไปเน้นทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจสำคัญ

มูลค่าบริษัทซี หรือ Sea ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของช้อปปี้ ธุรกิจเกมออนไลน์ ธุรกิจบริการการเงินออนไลน์ เคยเพิ่มสูงกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 7.4 ล้านล้านบาทในเดือนตุลาคมปี 2564 แต่ในปัจจุบันพบว่ามูลค่าบริษัทซีตกต่ำลงมาเหลือเพียง 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 999,000 ล้านบาท หรือเสียหายไปถึง -86.5% หรือกว่า 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6.4 ล้านล้านบาท

สาเหตุจากเมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ผ่อนคลายลง ทำให้ตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซชะลอตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาคของโลก ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในหลายสิบทศวรรษทั่วโลก กระทบทั้งกำลังซื้อของลูกค้า และผลประกอบการของกลุ่มบริษัทซี