ตราสารหนี้ไทยเผย 9 เดือนแรกปีนี้ เติบโตเพิ่มขึ้น 5.09 %

716
0
Share:

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 โดยรวมยังขยายตัวได้ดีที่ 5.09 % มีมูลค่าคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 14.2 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาล แม้ว่าตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีมูลค่าคงค้างลดลง เนื่องจากการลดลงของการออกหุ้นกู้ระยะสั้น (DB: Debenture:) ของกลุ่มธนาคารมจากสภาพคล่องในระบบธนาคารที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว แม้จะต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในไตรมาส 3 ทั้งนี้ กลุ่มพลังงานมีการออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมาจากความต้องการลงทุนมากขึ้นในธุรกิจพลังงานทางเลือกส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีการออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
.
ขณะที่ กระแสเงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทย แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อสุทธิในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาวอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 แต่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ยังเป็นการขายสุทธิรวม 71,299 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิทั้งในตราสารหนี้ระยะยาวที่ 7,260 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะสั้นที่ 64,039 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยรวมลดลงจาก916,816 ล้านบาท ณ สิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 848,767 ล้านบาท หรือ 6% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย
.
สำหรับในช่วงการระบาดของโควิด-19 แนวโน้มการออก ESG bond (ESG: Environmental, Social and Corporate Governance) กลับเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 9 เดือนแรกนี้ มีการออก ESG bond ถึง49,800 ล้านบาท สูงกว่าการออกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกือบ 4 เท่า และเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานภาครัฐออกESG bond กว่า 42,800 ล้านบาท ได้แก่
.
กระทรวงการคลังออก Sustainability bond มูลค่า 30,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
.
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรออก Green bond มูลค่า 6,000 ล้านบาท และการเคหะแห่งชาติออกSocial bond มูลค่า 6,800 ล้านบาท
.
ส่วนบริษัทเอกชนที่ออกในปีนี้ ได้แก่ บมจ.ปตท. และ บมจ. โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ออก Green bond มูลค่า 2,000 และ 5,000 ล้านบาท ตามลำดับ
.
ขณะเดียวกัน ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 คาดว่าบริษัทเอกชนยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ที่ 0.5% ไปจนกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับโลกจะคลี่คลาย