ทะลุ 17 ล้านคน! ติดรายวันกว่า 354,000 คน อินเดียสร้างสถิติประวัติศาสตร์ของโลกวันที่ 5

438
0
Share:
กระทรวงสาธารณสุข อินเดีย เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงผ่านมาถึงวันนี้ 26 เมษายน 2564 พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทะยานขึ้น 354,531 ทำสถิติติดเชื้อรายวันสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของโลก และของอินเดียครั้งใหม่ หรือนับตั้งแต่เกิดการระบาดในอินเดียเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา ที่สำคัญ มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าวันละ 300,000 รายเป็นครั้งที่ 5 และติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ของอินเดีย
.
ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคโควิด-19 ของโลกอย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับสถิติติดเชื้อมากกว่าวันละ 300,000 คน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายนจำนวน 315,728 ราย วันที่ 23 จำนวน 332,503 ราย วันที่ 24 จำนวน 345,147 ราย วันที่ 25 จำนวน 349,313 ราย และวันที่ 26 จำนวน 354,531 ราย รวม 5 วันติดต่อกันมีชาวอินเดียติดเชื้อสะสมทะลุ 1,697,222 ราย เฉลี่ยติดถึงวันละ 339,444 ราย หรือเฉลี่ยติดเชื้อนาทีละ 236 รายในอินเดียระหว่างวันที่ 22-26 เมษายน 2564 ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 19-25 เมษายน 2564 รวม 1 สัปดาห์ที่ผ่านไป อินเดียมีผู้ติดเชื้อทะยานสะสมเป็น 2,250,000 และผู้เสียชีวิตพุ่งถึง 89% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้น
.
ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 15-20 เมษายน 2564 อินเดียมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติมากกว่าวันละ 200,000 ราย ถึง 6 ครั้ง และ 6 วันติดต่อกัน ได้แก่ วันที่ 20 จำนวน 294,290 ราย วันที่ 19 จำนวน 256,947 ราย วันที่ 18 จำนวน 275,306 ราย วันที่ 17 จำนวน 260,778 ราย วันที่ 16 จำนวน 233,943 ราย และวันที่ 15 จำนวน 216,850 ราย
.
นอกจากนี้ ไม่เพียงทำลายสถิติติดรายวันเกิน 100,000 ราย เป็นครั้งที่ 22 ของอินเดีย แต่ยังทำสถิติเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่าวันละ 100,000 รายขึ้นไปในปัจจุบันนี้อีกด้วย ก่อนหน้านี้ อินเดียเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่ติดเกินกว่า 100,000 รายเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา
ผลจากการติดเชื้อรายวันถึง 354,531 รายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมานั้น ส่งผลตัวเลขสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 17,306,300 ราย เป็นอันดับที่ 2 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชีย ที่สำคัญนับเป็นวันที่ 47 ที่อินเดียพบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นติดต่อกัน
.
ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันมีจำนวน 2,806 ราย ทำสถิติมีผู้เสียชีวิตเกินกว่าวันละ 2,000 รายเป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน เป็นครั้งแรกของอินเดียที่มีผู้เสียชีวิตรายวันเกิน 2,000 ราย นอกจากนี้ ไม่เพียงทำสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ หรือนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่แล้ว แต่ยังทำสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ถึง 13 วันติดต่อกันที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ในอินเดียเป็นต้นมา (วันที่ 25 จำนวน 2,806 ราย วันที่ 24 จำนวน 2,761 ราย วันที่ 23 จำนวน 2,621 ราย วันที่ 22 จำนวน 2,256 ราย วันที่ 21 จำนวน 2,102 วันที่ 20 จำนวน 2,020 ราย วันที่ 19 จำนวน 1,757 ราย วันที่ 18 จำนวน 1,625 ราย วันที่ 17 จำนวน 1,495 ราย วันที่ 16 จำนวน 1,338 ราย วันที่ 15 จำนวน 1,183 ราย วันที่ 14 จำนวน 1,037 ราย และวันที่ 13 จำนวน 1,026 ราย) ดังนั้น จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมในรอบ 24 ชั่วโมงผ่านมา รวมเป็น 195,116 ราย เป็นอันดับที่ 4 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย
.
สำหรับสาเหตุการแพร่กระจายของโรคระบาดโควิด-19 รอบที่ 2 ในอินเดียอย่างรวดเร็ว และเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่องนั้น กระทรวงสาธารณสุข อินเดีย เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นเกิดการกลายพันธุ์ 2 สายพันธุ์ในไวรัสตัวเดียว ลักษณะแบบนี้เรียกว่า Double Mutant หรือดับเบิล มิวแทน โดยมีรหัสทางพันธุกรรมว่า B.1.617 นั้น ถูกตรวจพบในตัวผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 รัฐ รวมเป็น 13 รัฐของอินเดีย ที่สำคัญ มีการตรวจพบสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวที่รัฐมหาราษฏระเป็นรัฐแรก ส่งผลให้กลายเป็นรัฐที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของอินเดียในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา สำหรับการตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์ถึง 2 สายพันธุ์ในไวรัสตัวเดียวที่อินเดียนั้น ได้ตรวจพบเจอในกลุ่มไวรัสตัวอย่างเมื่อเดือนตุลาคม 2563 จนกระทั่งพบจำนวนตังอย่างของสายพันธ์ุนี้เพิ่มมากขึ้นในเดือนมกราคม 2564
.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข อินเดีย เปิดเผยว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้เก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสจากผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 ในรัฐมหาราษฏระ ซึ่งเป็นรัฐที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุดในอินเดีย พบว่าไวรัสโคโรนา 2019 มีการเพิ่มจำนวนพันธุกรรมรหัสใหม่ ได้แก่ E484Q และ L452R ทั้ง 2 สายพันธุ์ใหม่ได้รับการเรียกรหัสพันธุกรรมใหม่ว่า B.1.167 และมีจำนวนมากขึ้น และพบในไวรัสตัวเดียวกัน ขณะที่ นักวิทยาศาสตร์ในอินเดีย กำลังวิเคราะห์และหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ 2 สายพันธุ์ในไวรัสตัวเดียว แต่ความน่ากังวลใจในเบื้องต้น คือ อาจเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการระบาดมากขึ้น หรือเชื้ออาจได้รับผลกระทบน้อยมากหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย
.
ด้านภาวะการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในเมืองสำคัญของอินเดียนั้น ผลปรากฎว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงผ่านมาถึงวันที่ 26 เมษายน กรุงนิวเดลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอินเดีย พบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกว่า 22,923 ราย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 1,027,705 ราย ทำสถิติติดเชื้อทะลุ 1 ล้านรายเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564 นอกจากนี้ อัตราการติดเชื้อในกรุงนิวเดลีพุ่งขึ้นมากกว่า 30.21% ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2563 มีอัตราการติดเชื้อที่ 15.33% ขณะที่พบผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตรายใหม่จำนวน 350 ราย ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 14,248 ราย นอกจากนี้ กรุงนิวเดลีเผชิญกับภาวะอ๊อกซิเจนขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นแห่งกรุงนิวเดลี ประกาศขยายมาตรการปิดล็อกเมืองเต็มรูปแบบทั่วกรุงนิวเดลี โดยมีผลตั้งแต่เมื่อวานนี้ 25 เมษายน ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม เวลา 05.00 น. นับเป็นการต่ออายุมาตรการปิดล็อกครั้งที่ 2 ก่อนหน้านี้ ใช้มาตรการปิดล็อกครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน ถึงวันที่ 25 เมษายน 2564 รวมเวลา 6 วันติดต่อกัน
.
รัฐมหาราษฏระ ซึ่งมีเมืองมุมไบเป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองเศรษฐกิจการเงินอันดับ 1 ของอินเดียนั้น เป็นรัฐที่พบผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 พุ่งสูงมากที่สุดถึงครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศอินเดีย โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อทะยานถึง 66,191 ราย หรือ 19% ของผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 รายใหม่ทั้งหมดในประเทศวันนี้ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งเป็น 4,295,027 ราย หรือ 25% ของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งประเทศอินเดีย ทำสถิติเป็นรัฐที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในอินเดีย ด้วยอัตราการติดเชื้อสูงถึง 16.19% ด้านผู้เสียชีวิตรายวันพุ่งขึ้น 832 ราย ทำสถิติยอดเสียชีวิตรายวันเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ส่งผลมีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 64,760 ราย
.
สถานการณ์การระบาดอย่างรุนแรงในรัฐดังกล่าว ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนก๊าซอ๊อกซิเจนทั่วทั้งรัฐมหาราษฏระ เนื่องจากมีอัตราการใช้ก๊าซอ๊อกซิเจนสูงถึงวันละ 1,500 เมตริกตัน ท่ามกลางการผลิตได้เพียง 1,250 เมตริกตัน การใช้อ๊อกซิเจนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากมาย เป็นผลจากจำนวนผู้ป่วยโรคระบาดโควิด-19 รายวันในรัฐมหาราษฏระทะยานขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด โดยมีสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 40% ของทั้งประเทศอินเดีย
.
รัฐบาลแห่งรัฐมหาราษฏระ ประกาศมาตรการปิดล็อกเมืองที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น สั่งปิดร้านค้าที่ไม่จำเป็น ปิดห้างสรรพสินค้า สั่งห้ามบริการจัดส่งสินค้าที่สั่งผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ 14 เมษายนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ขณะที่ธุรกิจร้านอาหาร ผับ บาร์ แหล่งบันเทิงอื่นๆ ปิดบริการมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน รวมถึงห้ามรวมตัวในที่สาธารณะเกินกว่า 5 คนขึ้นไป
.
นอกจากนี้ นานาชาติประกาศมาตรการห้ามเครื่องบินจากประเทศอินเดียบินเข้าสู่หลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรต สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฮ่องกง เนเธอแลนด์ เยอรมนี เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีหลายประเทศสั่งห้ามเครื่องบินจากอินเดียเข้าประเทศของตนเองเพิ่มมากขึ้น
กระทรวงสาธารณสุข อินเดีย เปิดเผยว่า ได้ปรับแผนการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ใหม่ ด้วยการลดอายุของประชาชนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเป็นอายุ 18 ปีขึ้นไป มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคมนี้
.
ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนสะสมแตะ 119 ล้านคนนับตั้งแต่วันที่เริ่มฉีดวัคซีนเป็นวันแรกในอินเดีย ขณะที่ในวันนี้ 12 เมษายน พบว่ามีประชาชนชาวอินเดียได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 สะสมเพิ่มเป็น 104.3 ล้านคน หรือราว 35% จากเป้าหมายที่ต้องการฉีดให้ได้ 300 ล้านคนภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ สำหรับจำนวน 300 ล้านคนดังกล่าว คิดเป็น 1 ใน 5 หรือประมาณ 20% ของประชากรทั้งประเทศอินเดียที่ 1,300 ล้านคน