ทีม “ชัชชาติ” สรุปผลงาน 6 เดือน คืบหน้าโครงการ 9 ด้าน พร้อมวางทิศทางพัฒนากรุงในปี 66

326
0
Share:
ทีม "ชัชชาติ" สรุป ผลงาน 6 เดือน คืบหน้าโครงการ 9 ด้าน พร้อมวางทิศทางพัฒนากรุงในปี 66

น.ส.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการทำงานของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และทีมงานทุกคนในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า จากนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเรื่อง 9 ด้าน 9 ดี ที่ดำเนินการมาก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เดินสัมผัสสอบถามความเป็นอยู่และความต้องการของประชาชนคนกรุงเทพฯ และนำมารวมกับยุทธศาสตร์พัฒนา กทม. ใน 7 มิติ ผ่านการออกแบบมาเป็น 74 เป้าหมาย และได้มีการถ่ายทอดไปทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับของ กทม. แล้วเรียบร้อย

โดยเฉพาะในด้านคุณภาพชีวิตแลความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบัน กทม. ได้สนับสนุนงานด้วยการจ้างคนพิการแล้ว 323 คน และภายในเดือน มี.ค. 2566 จะเพิ่มอีก 4 ตำแหน่ง 11 อัตรา รวมไปถึงการพัฒนาการเพิ่มเติมทักษะใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนักจัดการเมือง นักสุขภาพเมือง นักสิ่งแวดล้อมเมือง นักปลอดภัยเมือง และวิศวกรเมือง นอกจากนี้ กทม. ยังได้มีการกระจายอำนาจ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านสังคม และคุณภาพชีวิตของสำนักงานเขตสู่ประชาชนในพื้นที่ (Sandbox) จำนวน 2 เขตนำร่องได้แก่ เขตคลองเตย และบางเขน

นโยบายด้านสุขภาพดีโดยการจัดทำจุด One Stop Service และมีการปรับปรุงการขึ้นทะเบียนคนพิการผ่านระบบ One Stop Service ให้แล้วเสร็จภายในครึ่งวัน ปัจจุบันมีโรงพยาบาลให้บริการ 9 แห่ง สามารถดำเนินการออกบัตรประจำตัวคนพิการไปแล้ว 2,345 ราย และในปี 66 จะเปิดให้บริการได้ครบทั้ง 11 โรงพยาบาลในสังกัดกทม. รวมทั้งมีการจัดทำระบบ Telemedicine ซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการให้คำปรึกษา ตรวจรักษา ตรวจสอบสิทธิ นัดหมาย จองคิว และมีการส่งต่อข้อมูล เปิดใช้แล้ว 9 แห่ง มีผู้รับบริการ 45,583 ราย ในปี 2566 จะเปิดให้ครบ 11 แห่ง

การพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อการส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral) ซึ่งจะเปิดบริการได้เต็มรูปแบบในเดือนม.ค. 2566 ทุกโรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ระบบดังกล่าวจะประหยัดเวลาได้รับการรักษาทให้เร็วขึ้นและยังช่วยลดเวลาการตอบรับนัดเหลือไม่เกิน 30 นาที

ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนา BKK Risk Map เพื่อเป็นการแสดงแผนที่เสี่ยงภัยในกทม.ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย อัคคีภัย จุดเสี่ยงและอันตราย ความปลอดภัยทางถนน มลพิษทางอากาศ PM2.5 ซึ่งสามารถใช้งานได้แล้ว ตลอดจนมีการยกระดับศักยภาพให้ชุมชนปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มประปาหัวแดง 248 จุดในพื้นที่เสี่ยงสูง เพิ่มเครื่องดับเพลิงในชุมชนแออัด 451 ชุมชน และเพิ่มรถกู้ภัยทางถนน 15 คัน และมีการจัดระบบเชื่อมโยงกับมูลนิธิกู้ชีพกู้ภัย 7 แห่ง มีการแบ่งโซนการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีเอกภาพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า เนื่องจากปริมาณน้ำฝนสะสมค่าเฉลี่ย 30 ปี พบว่ามากขึ้น 40% ทำให้ศักยภาพการระบายน้ำของกทม.ต้องมีการปรับปรุงระบบระบายน้ำให้สามารถรองรับน้ำฝนที่อาจจะตกเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินตามนโยบายเส้นเลือดฝอย ด้วยการลอกท่อไปแล้ว 3,357 กม. และตั้งเป้าหมายปี 2566 กทม.จะลอกท่อให้ได้ 3,875 กม.

การปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 12 แห่ง เพิ่มปั้ม 18 ตัว โดยในปี 2566 จะปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 69 แห่ง เพิ่มปั้ม 124 ตัว มีการขุดลอกคลองไปแล้ว 159 กม.อย่างไรก็ตามตั้งเป้าปี 2566 จะลอกคลองให้ได้ 183 กม. พร้อมทั้งจะต้องมีการปรับปรุงและซ่อมแซมสถานีสูบน้ำ 23 แห่ง และอุโมงค์ระบายน้ำ กทม.ได้วางแผนว่าในปี 2566 มีการปรับปรุงและซ่อมแซมสถานีสูบน่ำ 39 แห่ง และอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มปั๊ม 30 ตัว เพื่อทำให้การระบายน้ำของกทม.น่าจะทำได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มีการซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำท่วมและแนวฟันหลอไปแล้ว 21 แห่ง ในปี 66 จะดำเนินการเพิ่มอีก 25 แห่ง และมีแผนบรรเทากรณีน้ำซึมผ่านอีก 73 แห่ง

ส่วนแผนการปรับปรุงทางเท้า 1,000 กม. ปัจจุบันดำเนินการเสร็จไปแล้ว 150 กม.โดยในปี 2566 จะดำเนินการอีก 250 กม. ส่วนการร้องเรียนปัญหาทางเท้าจากประชาชนผ่าน Traffy Fondue ซึ่งมีการแจ้งเรื่องเข้ามากกว่า 836 รายการ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 624 รายการ โดย กทม.ดำเนินการปรับปรุงทางวิ่ง 500 กม. ดำเนินการแล้วเสร็จ 20 กม. ใน 2 เส้นทาง และในปี 66 จะดำเนินการอีก 100 กม.ใน 10 เส้นทาง

การจัดระเบียบสายสื่อสาร ดำเนินการแล้วเสร็จใน 37 เส้นทาง ระยะทาง 161.56 กม. ตั้งเป้าหมายในปี 2566 จะดำเนินการอีก 442.62 กม. ส่วนการนำสายสื่อสารลงดิน ขณะนี้ทำเสร็จ 6.3 กม. จะดำเนินการอีก 29.2 กม.ภายในปี 66

การแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ กทม. ได้วิเคราะห์จุดรถติด เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณา ว่า ตำแหน่งที่รถติดอยู่จุดใด ซึ่งพบว่า ปัจจุบันมีอยู่ 266 จุด กทม.ได้ส่งทีมเข้าไปหาแนวทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการกวดขัดวินัยจราจร ปรับปรุงเชิงกายภาพ ใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการจราจร

การกำกับงานของกรุงเทพธนาคม พบปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูล กทม.จึงให้นโยบายโดยการให้นำสัญญาที่มีอยู่เปิดเผยให้มากสุด เพื่อสร้างความโปร่งใส และได้สั่งการให้มีการบันทึกบัญชีแบบบริษัทมหาชน การจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องออกระเบียบบริษัทให้โปร่งใสขึ้น สำหรับความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว การจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ทางกทม.ยังไม่ได้รับมอบจากกระทรวงคมนาคม จึงยังเกิดคำถามว่าจะเก็บค่าโดยสารได้ขนาดไหน ส่วนเรื่องคดีในศาล ยังอยู่ระหว่างการยื่นอุทรณ์ แต่ในระหว่างนี้ กทม.ก็ดูเรื่องค่าจ้าง ค่าโดยสารว่าค่าจ้างที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร

ด้านแผนการหารายได้ นายวิศณุ กล่าวว่า ต้องจัดเก็บรายได้เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะต้องมีการปรับปรุงระบบทะเบียนภาษีให้ครบถ้วนขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็ยภาษีป้ายซึ่งที่ผ่านมามีการเก็บตามอำนาจของเจ้าหน้าที่โดยจะต้องทำให้รัดกุมมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการการจัดเก็บค่าน้ำเสีย ซึ่งจะเริ่มจากพื้นที่พาณิชย์ก่อน

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า กทม. ได้ดำเนินการตรวจรถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก 58,711 คัน ตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งโรงงาน แพลนท์ปูน ไซต์ก่อสร้าง และถมดิน 1,900 แห่ง พร้อมกับมีการตรวจสอบแหล่งกำเนิดทุกแห่งอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน มีจุดวัดค่าฝุ่นในพื้นที่ กทม. 70 จุด ผ่าน App AirBKK และแจ้งผ่าน Traffy Fondue และในอนาคตสามารถแจ้งปัญหาผ่านทางไลน์ได้ด้วย และ กทม. มีเป้าหมายกำหนดให้ค่ามาตรฐาน PM2.5 ต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

ด้านการเปิดสวน 15 นาที (Pocket Park) ซึ่งเป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงนั้น สามารถจัดหาพื้นที่ได้แล้ว 98 แห่ง เปิดให้บริการได้แล้ว 13 แห่ง มีพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำ 641 ไร่

ปัญหาหาบเร่-แผงลอย ขณะนี้ กทม. มีจุดผ่อนผัน 95 จุด มีผู้ค้า 4,000 ราย และนอกจุดผ่อนผัน 618 จุด มีผู้ค้า 13,964 ราย โดย กทม. มีการเก็บข้อมูลผู้ค้าแต่ละรายด้วย และมีการขอความร่วมมือจากผู้ค้าในการช่วยกันทำความสะอาด และดูแลทางเท้าในพื้นที่ที่ประกอบการอยู่ ส่วนการพัฒนาศูนย์อาหาร Hawker Center กทม.ได้ดำเนนิการสำรวจพื้นที่แล้ว 125 จุด โดยจะเน้นพื้นที่สะดวก สะอาด และสนุก นำร่อง 2 จุด คือ ที่เขตมีนบุรี และสวนลุมพินีประตู 5

สำหรับการแก้ไขปัญหาขยะ มี 2 แนวทาง คือ การศึกษาเตาเผาขยะ อยู่ระหว่างหารือด้านงบประมาณเพราะการเผาขยะมีราคาสูง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ คือ น่าจะมีการนำขยะไปเผาที่สายไหม และมีการศึกษาไปเผานอกสถานที่ แต่สิ่งที่ต้องการมากสุด คือ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรในแนวคิดการกำจัดขยะ

ขณะที่นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ส่วนการดำเนินการในเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานตลอดเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา กทม. เน้นการทำเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ผ่านการทำสวัสดิการให้ทั่วถึงสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าอาหาร 20 บาทเป็น 32 บาท และเพิ่มอุปกรณ์ศูนย์เด็กเล็ก 100 เป็น 600 บาท จัดหาอาหารเช้าและกลางวันฟรี พร้อมทั้งมีการจัดชุดนักเรียนและผ้าอนามัยฟรี รวมทั้งลดการใส่เครื่องแบบด้วยการจัดการคนไร้บ้าน ด้วยการเพิ่มจุด drop-in 4 จุดจัดระเบียบการแจกอาหาร และจัดที่อยู่อาศัย ส่วนคนพิการ ได้จ้างงานคนพิการ 323 คน พัฒนาระบบ Live Chat Agent โรงเรียนเรียนร่วม 158 โรงเรียน สำหรับคนพิการ และมีรถรับส่งคนพิการ โดยกรุงเทพธนาคม ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ประจำชุมชุม 266 คน จาก 31 เขต มีการจัดทำ Food bank ส่งเสริมอาชีพ สร้างแรงงาน ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และสร้างผู้ประกอบการ
การคัดกรองเด็กยากจนพิเศษ เพื่อขอรับทุนการศึกษาจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 6,159 คน มีการปลดล็อกครู รวมทั้งเพิ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและการเงินโรงเรียน ลดภาระงานเอกสารครู และมีการปรับเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้เป็นมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการส่เสริมนวัตกรรมการศึกษาใน 54 โรงเรียน และพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา

กทม. ยังได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน มีตลาดนัดชุมชน ของดี 50 เขต มีย่านสร้างสรรค์ในแต่ละโซน รวมถึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ กลางแปลง ส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนต์ในกทม. BKK เรนเจอร์ เป็นสภาเมืองคนรุ่นใหม่ กิจกรรมดิปาวาลี พัฒนาย่าน Little India และดนตรีในสวน เป็นต้น