ธปท.เตรียมลงนามแบงก์แก้หนี้ครัวเรือน

821
0
Share:

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ส.ค. นี้จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาชิกสมาคมธนาคารไทย ถึงแนวนโยบายการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบซึ่งหนึ่งในนั้น คือ แนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเร่งตัวมากขึ้น
.
โดยหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นกว่า 25% จากปี 2552 อยู่ที่ 53.5% เป็น 78.7% ในปี 2561 เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ส่วนอันดับ 1 เป็นเกาหลีใต้ อยู่ที่ 97.7% ซึ่งคนอายุ 60-69 ปี มีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาทต่อราย และ คนอายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ย 287,932 บาทต่อราย
.
ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย 5 ข้อ
1.ปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบต่อลูกค้า
2.การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้า
3.การเสนอขายผลิตภัณฑ์โดยแจ้งรายละเอียดที่ชัดเจน และ ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินความจำเป็น
4.การพิจาณาให้สินเชื่อ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้กู้ และ ยังมีเงินเหลือดำรงชีพได้ 5. กำหนดเงื่อนไขในสัญญาที่เป็นธรรมต่อลูกค้าเป็นหนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
.
โดยหลังการเซ็น MOU อยากเห็นแบงก์มีแผนปฏิบัติในทันที และ มีการปรับกระบวนการทำงานภายในให้ตอบโจทย์ทั้ง 5 ข้อ โดยจะเริ่มใช้ม.ค. 2563 และ จะมีการรับฟังความคิดเห็นของสถาบันการเงินในเดือนนี้
.
นอกจากนี้ ธปท. จะมีการติดตามภาระหนี้ต่อรายได้ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องการให้สถาบันการเงินติดตามลูกค้าที่มีกลุ่มเสี่ยงรวดเร็วและใกล้ชิดมากกว่ากลุ่มปกติ
.
โดยธปท.จะเข้าไปติดตามกระบวนการภายในของสถาบันการเงินว่ามีประสิทธิภาพที่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าคุณภาพหนี้ของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่จะดีขึ้น และ NPL จะลดลง แต่แนวนโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อกฎหมายบังคับ แต่สถาบันการเงินควรที่จะปฏิบัติ มิฉะนั้นจะถูกภาคสังคมเข้ามาร่วมกดดัน