ธปท.เผยไตรมาส 2 กำไรแบงก์ลดลงเหลือ 31,000 ล้านบาท

534
0
Share:

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยในงานแถลงข่าว ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/2563 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 31,000 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 53,300 ล้านบาท เนื่องจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจมีแนวโน้มด้อยลง ประกอบกับรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารปรับลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 0.57% จากไตรมาสก่อนที่ 1.03%
.
สำหรับอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.6% จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 2.9% ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงสอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของภาคธุรกิจและประชาชนเป็นสำคัญ
.
ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5% จาก 4.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อธุรกิจ ที่มีสัดส่วน 65.2% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 5.1% ตามการใช้สินเชื่อของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอีได้รับการสนับสนุนจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นผลให้หดตัวในอัตราที่ลดลง
.
ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภค คิดเป็น 34.8% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 4.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ สอดคล้องกับการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยปรับดีขึ้นภายหลังการทยอยคลายมาตรการปิดเมือง
.
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่า ทรงตัวจากไตรมาสก่อน จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงป้องกันซึ่งช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 509 ล้านบาท หรือเป็นเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.09% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 3.04% โดยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสายการบินขนาดใหญ่เป็นหลัก
.
ส่วนสถานการณ์ NPL นั้น ยอมรับว่า ภายในสิ้นปีนี้คงไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีวิธีการบริหารจัดการ ขณะที่ NPL ใหม่ อาจจะเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย เช่นเดียวกับที่ผ่านมาเนื่องจากมีบางภาคธุรกิจที่อาจไม่ได้รับการช่วยเหลือบ้าง แต่ทั้งนี้ จำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้น ยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้
.
สำหรับแนวโน้มสินเชื่อปีนี้ ยอมรับว่า จะเติบโตเป็นเลขหลักเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ ธปท. ยังได้มอบหมายให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง ไปจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจในภาวะวิกฤติ หรือ แผนรองรับกรณีเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดสำหรับปี 64-65 ซึ่งจะได้รับผลในเดือนต.ค.นี้