ธุรกิจรายย่อยของธนาคารในไทยใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน คาดคนไทยสายรูดบัตรไม่โตก้าวกระโดด

217
0
Share:
ธุรกิจรายย่อย ของ ธนาคาร ในไทยใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน คาดคนไทยสายรูด บัตรเครดิต ไม่โตก้าวกระโดด

นายธีรวัฒน์ ตรีรัตน์ดิลกกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ Card Payment & Unsecured Products ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับภาพรวมตลาดบัตรเครดิตในปี 2566 มองว่า ลูกค้าได้ผ่านช่วงเวลาลำบากและชะลอการใช้จ่ายในช่วงการระบาดของโควิด-19 แล้ว ซึ่งหลังจากกลางปี 2565 ที่มีการเปิดประเทศจะเห็นว่าการใช้จ่ายกลับมาดีขึ้นตามลำดับตามสถานการณ์ โดยจะเห็นว่าตัวที่มีการเติบโตโดดเด่น คือ การใช้จ่ายผ่านบัตรในต่างประเทศที่ขยายตัวสูง ส่วนหนึ่งมาจากคนไทยยังคงต้องการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งจะหนุนตลาดบัตรเครดิตให้ขยายตัวได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี หากประเมินอัตราการเติบโตของยอดใช้จ่าย (Spending) มองว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 และที่เหลือของปีนี้อาจจะไม่เห็นการเติบโตในอัตรา 17% เหมือนในไตรมาสที่ 1/2566 ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน เพราะไทยเพิ่งเปิดประเทศ แต่เชื่อว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ในตัวเลข 2 หลักได้

ทั้งนี้ หากดูในช่วง 6 เดือนหลังจากมีการโอนย้ายธุรกิจจากซิตี้แบงก์ พบว่า ธุรกิจมีอัตราการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง เช่น การหาลูกค้าใหม่ยังคงที่ และคาดว่าธนาคารจะมีฐานลูกค้ารวมภายในสิ้นปีนี้อยู่ที่ 2.4 ล้านใบ จากเป้าหมายเดิมอยู่ 2.3 ล้านใบ ซึ่งเป็นฐานลูกค้ามาจากซิตี้แบงก์ 1.2 ล้านใบ ซึ่งแผนการหาลูกค้าใหม่จะมาจากหลากหลายช่องทาง โดยลูกค้า 1 ใน 3 จะมาจากช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ธนาคารยังมีช่องทางไดเรคเซลล์ และเทเลเซลล์

สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างพบว่าไตรมาสที่ 1/2566 มีอัตราการเติบโต 13% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเป็น 2 เท่าของระบบที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรสามารถเติบโต 2 เท่าของระบบ โดยขยายตัว 30% เมื่อเทียบกับระบบที่เติบโตเพียง 17%

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภายหลังจากโอนย้ายกิจการตัวเลขเอ็นพีแอลไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารยูโอบีและซิตี้แบงก์เน้นลูกค้าระดับกลาง ทำให้หนี้เสียค่อนข้างน้อยและต่ำกว่าระบบที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2.3%

ด้านนางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล Head of Retail and Brand ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจรายย่อยของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับ 5 ประเทศในภูมิภาค โดยเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนของเงินฝาก ธุรกิจความมั่งคั่ง (Wealth Management) สินเชื่อบ้าน รวมถึงสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และรถแลกเงิน ส่งผลให้ธุรกิจในไทยมีการเติบโตชัดเจน

ผลประกอบการในไตรมาสที่ 1/2565 ถึงปัจจุบันในด้านเงินฝากมีอัตราการเติบโต 12% และในแง่ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) ในส่วนของวีซ่า จะพบว่าไทยมียอดใช้จ่ายสูงสุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งทั้งยอดใช้จ่ายและยอดสินเชื่อคงค้างขยายตัว 2 เท่า ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงเห็นสัญญาณในการเติบโต

Head of Retail and Brand ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า หลังเปิดประเทศจากโควิด-19 ปัจจุบันเราเห็นสัญญาณการเติบโตของธุรกิจกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิดแล้ว ซึ่งประเทศไทยเองก็มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเมื่อเทียบกับภูมิภาคก็กลับมาโตเต็มที่และโตเร็ว และภายหลังจากควบรวมพอร์ตกับซิตี้แบงก์ คาดว่าภายใน 18 เดือน หรือต้นปี 2567 จะเห็นระบบและการให้บริการที่ Smooth Jouney มากขึ้น จากตอนนี้เรายังคงใช้ระบบของซิตี้แบงก์อยู่