นักวิจัยเยอรมนีเผยไวรัสโควิด19 ปนเปื้อนบนสิ่งของนาน 9 วัน

1273
0
Share:

ทีมงานจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เกรฟส์วาลด์ (University Medicine Greifswald) ในประเทศเยอรมนี นำโดย ศาสตราจารย์กุนเทอร์ คัมป์ฟ ได้ทำการทดลองเพื่อหาคำตอบว่าไวรัสโควิด19(ไวรัสโคโรนา) จะสามารถมีชีวิตอยู่บนวัตถุสิ่งของต่างๆ ได้เป็นเวลานานเท่าใด ซึ่งในการทดลองนี้ได้นำไวรัสตัวเดิมในตระกูลไวรัสโควิด19 คือ SARS-CoV และ MERS-CoV มาทดสอบร่วมกับไวรัสอื่นๆ เช่น ไวรัสกระเพาะและลำไส้อักเสบ TGEV, ไวรัสตับอักเสบในหนู MHV, และไวรัสอื่นบางสายพันธุ์ที่ติดต่อกันในสัตว์ เช่น CCV
.
ผลการทดลองพบว่าไวรัสโควิด19 สายพันธุ์ต่างๆ สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวสิ่งของต่างๆ เช่น โลหะ ไม้ กระดาษ แก้ว พลาสติก ได้นานมากที่สุดถึง 9 วัน โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 วัน ตัวแปรอยู่ที่อุณหภูมิและความชื้น
.
หากวัตถุนั้นๆ อยู่ในอุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็นและชื้น ไวรัสก็จะมีชีวิตยืนยาวขึ้น ซึ่งมักเป็นส่วนประกอบของสิ่งของต่างๆ ในห้องผู้ป่วย และตราบใดที่มันยังมีชีวิตอยู่ในจำนวนที่มากพอควร ไวรัสนี้ก็ยังมีความสามารถในการแพร่เชื้อเช่นเดิมเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์
.
นอกจากการทดลองหาอายุของไวรัสบนวัตถุสิ่งของแล้ว ทางทีมงานยังได้ทำการทดลองเพื่อหาหนทางกำจัดไวรัสโคโรนาที่ปนเปื้อนบนสิ่งต่างๆ อีกด้วย และพบว่าไวรัสนี้จะตายภายใน 1 นาทีเมื่อสัมผัสเอทานอล 62-71%, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5% หรือโซเดียมไฮโปคลอไรต์ 0.1%
.
เมื่อเราทำความสะอาดพื้นผิววัตถุต่างๆ ด้วยสารฆ่าเชื้อทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้นในระดับความเข้มที่กำหนดไว้ ไวรัสโคโรนาจะลดจำนวนจากล้านหน่วยเหลือเพียงร้อยหน่วยภายในเวลาไม่ถึงนาที
.
สารฆ่าเชื้อทางชีวภาพอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ 0.05-0.2% หรือคลอร์เฮกซิดีนกลูโคเรต 0.02% นั้น ทางทีมงานทดสอบแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการฆ่าไวรัสโคโรนาไม่ดีนัก ความเร็วในการกำจัดเชื้อน้อยกว่าสารฆ่าเชื้อ 3 ชนิดแรก
.
ทำให้เราต้องกลับมาเพิ่มความระมัดระวังในการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ทั้งในกรณีที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลหรือประชาชนทั่วไปที่ในชีวิตประจำวันจะต้องใช้มือหยิบจับวัตถุสิ่งของตามที่สาธารณะต่างๆ เช่น ธนบัตร ปุ่มลิฟต์ ราวจับบนรถเมล์รถไฟฟ้า ราวบันไดสะพานลอย ฯลฯ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนไวรัสต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว เมื่อเราสัมผัสวัตถุเหล่านั้นแล้ว ก็อาจทำให้ไวรัสต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ เราจึงควรหมั่นล้างมือให้ถูกวิธีอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือก็ต้องระวังว่าจะเป็นตัวกลางในการสะสมเชื้อ