นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเชื่อสหรัฐอัดฉีดเงิน – ลดดอกเบี้ยยังไม่พอพยุงเศรษฐกิจ

597
0
Share:

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดังระดับโลก โจเซฟ สติกลิทส์ เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ใช้มาตรการการเงินที่เข้มข้นที่สุดในรอบกว่า 11 ปี หรือตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2008 ด้วยการลดดอกเบี้ยระยะสั้นฉุกเฉิน 2 ครั้งรวม 1.25% และซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลในระบบการเงินด้วยการใช้เงินสูงมากถึง 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 22 ล้านล้านบาทนั้น ชัดเจนว่า ไม่สามรถช่วยภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่มีสัญญาณชะลอตัวลงได้ ซึ่งเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะโรคระบาดโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
.
โจเซฟ สติกลิทส์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก กล่าวต่อไปว่า เป็นที่ชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวไม่สามารถสร้างความมีเสถียรภาพให้กับตลาดทุนสหรัฐได้ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า นี่คือวิกฤตที่มีความแตกต่างจากวิกฤตทั่วไป สถานการณ์นี้ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับสภาวะความต้องการของผู้บริโภค หรือธุรกิจที่หดหาย ที่มักจะเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจ แต่เป็นความวิตกกังวลอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากภาวะโรคระบาด
.
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าวว่า สถาบันการเงินทุกแห่งในสหรัฐอเมริกาที่พยายามออกมายืนยันด้วยการสร้างความมั่นใจว่ามีสถานะแข็งแกร่ง ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 นั้น ไม่มีสถาบันการเงินไหนจะปลอดภัยจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าธนาคารเหล่านั้น จะมีทุนสำรองพอเพียงก็ตาม ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจของธนาคารมีความเปราะบางมากขึ้นกับวงจรธุรกิจในขณะนี้
.
นายโจเซฟ สติกลิทส์ เห็นด้วยสำหรับมาตรการการคลังของรัฐบาลสหรัฐที่จะต้องใช้เฉพาะเจาะจงกับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตึงเครียดกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ และสนับสนุนชาวอเมริกันไม่ให้มีการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดเหมือนช่วงปกติ รวมถึงมาตาการการกักตัวเองในกรณีที่เจ็บป่วย หรือตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา
.