น้ำมันดิบตลาดโลกในเอเชียกระฉูดเกิน 105 ดอลลาร์ครั้งใหม่ แพงสุดในรอบ 8 ปี

353
0
Share:
น้ำมันดิบ ตลาดโลกใน เอเชีย กระฉูดเกิน 105 ดอลลาร์ครั้งใหม่ แพงสุดในรอบ 8 ปี

ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าในเอเชียที่ประเทศสิงคโปร์ เช้าวันนี้ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเวลา 7.45 น. (ตามเวลาไทย) รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ เคลื่อนไหวสูงสุดที่ระดับ 98 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -6.41 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือกว่า +7% ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ เคลื่อนไหวสูงสุดที่ 105 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +7.07 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือกว่า +7%

ต่อมาราคาน้ำมันดิบน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ อ่อนตัวลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 96.66 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +5.07 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +5.53% เช่นเดียวกันกับ น้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 102.88 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +4.95 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +5.05% อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นระดับราคาน้ำมันดิบที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014 หรือในรอบ 8 ปีผ่านมา

สาเหตุจากนักลงทุนประเมินผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจการเงินของนานาชาติขนาดใหญ่ที่มีต่อรัสเซีย ซึ่งจะถูกตัดออกจากระบบการรับส่งข้อมูลการเงินระหว่างประเทศ หรือระบบ SWIFT และตัดออกจากธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกพลัส เปิดเผยรายงานการปรับตัวเลขปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบตลาดโลกปี 2022 ลงจากเดิม

ย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 91.59 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -1.22 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ -1.3% ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 97.93 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -1.15 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -1.2% ในสัปดาห์ที่ผ่านไป ราคาน้ำมันดิบทั้ง 2 แห่ง เพิ่มขึ้น +0.6% และ +4.7% ตามลำดับ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ในช่วงระหว่างการซื้อขาย พบว่าราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ สหรัฐ และเบร็นท์ อังกฤษ พุ่งสูงถึงระดับ 100.54 และ 105.79 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ ส่งผลให้เป็นราคาน้ำมันดิบสูงสุดในรอบ 8 ปี หรือตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา

สาเหตุจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโจ ไบเดน เปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกากำลังทำงานกับนานาชาติในการปล่อยน้ำมันดิบสำรองเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันเข้าสู่ตลาด เพื่อกดดันราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วในรอบ 8 ปี ซึ่งเป็นผลพวงจากวิกฤตรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปรายสัปดาห์ในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงถึง 4.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ที่ 450,000 บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม วิกฤตสถานการณ์รุนแรงระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการคว่ำบาตรจากนานาชาติทั่วโลก ยังคงกดดันราคาน้ำมันดิบโลกต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานภาวะน้ำมันดิบโลก พบว่าตลาดน้ำมันดิบยังคงตึงตัวต่อเนื่องหลังจากกลุ่มโอเปกพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิตอีก 400,000 บาร์เรลในเดือนมีนาคม โดยทั่วโลกต้องการใช้น้ำมันดิบปี 2565 สูงถึง 100.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน