น้ำมันดิบตลาดโลกในเอเชียทะลุ 110 ดอลล์ พุ่งแรงในรอบ 8 ปี 5 เดือน

562
0
Share:
น้ำมันดิบ ตลาดโลกใน เอเชีย ทะลุ 110 ดอลล์ พุ่งแรงในรอบ 8 ปี 5 เดือน

วันนี้ 2 มีนาคม 2565 เมื่อเวลา 10.45 น. (เวลาไทย) ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าในเอเชียที่สิงคโปร์ รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ เคลื่อนไหวที่ 109.23 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +5.82 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ +5.45% ทำสถิติราคาสูงสุดในรอบ 8 ปี 5 เดือน หรือนับตั้งแต่กันยายน 2013 เป็นต้นมา

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ เคลื่อนไหวที่ 110.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +5.87 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +5.6% ทำสถิติราคาสูงสุดในรอบ 7 ปี 7 เดือน หรือนับตั้งแต่กรกฎาคม 2014 เป็นต้นมา

เมื่อคืนที่ผ่านมา 1 มีนาคม 2565 (ตามเวลาสหรัฐอเมริกา) ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 103.41 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +7.69 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ +8.03% โดยในช่วงระหว่างการซื้อขาย มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 106.78 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล พุ่งทะยานถึง +11.06 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +11.5%

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 104.97 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +4.42 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +7.15% โดยในช่วงระหว่างการซื้อขาย มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 107.57 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล พุ่งทะยานถึง +6.78 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +10.3% ส่งผลราคาน้ำมันดิบทั้ง 2 แห่ง ปิดสูงสุดในรอบ 7 ปี หรือนับตั้งแต่ 7 ปี 7 เดือน หรือนับตั้งแต่กรกฎาคม 2014

สาเหตุจากกองทัพรัสเซียโจมตีด้วยขีปนาวุธรุนแรงเข้าทำลายตึกที่ทำการรัฐบาลยูเครนในเมืองใหญ่อันดับ 2 คือเมืองคาร์คิฟ นานาชาติประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินระหว่างประเทศกับรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ได้รับผลกระทบต่อราคาพลังงานทั้งทางตรง และทางอ้อมอย่างเห็นได้ชัดเจน รัฐบาลแคนาดาตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรด้านน้ำมันดิบกับรัสเซีย ด้วยการยกเลิกนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ท่ามกลาง นอกจากนี้ นักลงทุนจับตามองการประชุมแบงก์ชาติสหรัฐอเมริกาในเดือนนี้ ที่จะมีการประบขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม วิกฤตสถานการณ์รุนแรงระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการคว่ำบาตรจากนานาชาติทั่วโลก ยังคงกดดันราคาน้ำมันดิบโลกต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานภาวะน้ำมันดิบโลก พบว่าตลาดน้ำมันดิบยังคงตึงตัวต่อเนื่องหลังจากกลุ่มโอเปกพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิตอีก 400,000 บาร์เรลในเดือนมีนาคม โดยทั่วโลกต้องการใช้น้ำมันดิบปี 2565 สูงถึง 100.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค เปิดเผยว่า ได้ปรับเป้าหมายราคาน้ำมันดิบตลาดโลกใหม่ โดยประเมินในไตรมาสที่ 2 จะมีราคาพุ่งขึ้นที่ระดับ 110 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่มองไว้ที่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล นอกจากนี้ ในกรณีที่มีปัจจัยรุนแรงเกิดขึ้นมากกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 125 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ธนาคารดังกล่าวประเมินว่าความเสี่ยงที่กระทบราคาน้ำมันดิบจะยังคงมีต่อไปในอีกหลายเดือนข้างหน้า

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA เปิดเผยว่า ได้มีมติให้สมาชิกของ IEA ปล่อยสำรองน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดโลก 60 ล้านบาร์เรล เพื่อต้องการลดผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีครึ่ง จากผลกระทบของสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ตาม นายบ็อบ ยอวเกอร์ ผู้อำนวยการสายงานตราสารล่วงหน้า บริษัทหลักทรัพย์มิซูโฮ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 60 ล้านบาร์เรล ซึ่งคิดเป็นเพียง 4% ของปริมาณสำรองทั้งหมดที่ 1,500 ล้านบาร์เรลนั้น ซึ่งแทบไม่มีผลในทางบวกที่จะดึงราคาน้ำมันดิบให้ลดลงได้ เนื่องจาก ปริมานดังกล่าวเทียบเท่ากับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียเพียง 6 วัน และเท่ากับ 12 วันของการส่งออกน้ำมันดิบโดยรัสเซีย