บราซิลเตรียมร้อง WTO หลังไทยแบน 3 สารเคมี

1065
0
Share:

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯได้ทำหนังสือถึง 4 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม //กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ //กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข โดยตั้งคำถามว่าจะให้ผู้ประกอบการทำอย่างไร เพราะจากการแบน 3 สาร โดยปรับจากเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 คือ ห้ามมีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง และควบคุมโดยการห้ามประกอบกิจการใดๆ นั่นคือ ต้องไม่มีสารตกค้างจากทั้ง 3 สารในสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย
.
โดยสหรัฐฯ บราซิล และอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นผู้ผลิตถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก และเป็นแหล่งนำเข้าหลักของไทยเพื่อนำใช้ผลิตอาหารสัตว์ หรือในอุตสาหกรรมอาหารของไทยต่างมีการใช้สารไกลโฟเซตในการผลิตทั้งสิ้น ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับ เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมหรือออกกฎกระทรวงให้สามารถนำเข้าสินค้าวัตถุดิบทางการเกษตร โดยอ้างอิงสารตกค้างตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ Codex ได้ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
.
ที่สำคัญอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั้งไก่ กุ้ง ส่งออกรวมกันปีละกว่า 2 แสนล้านบาท และใช้บริโภคในประเทศอีกปีละกว่า 3 แสนล้านบาท รวมกันมากกว่า 8 แสนล้านบาท ยังไม่นับอุตสาหกรรมอาหารที่มีการนำเข้าข้าวสาลี และถั่วเหลืองมาแปรรูปทั้งขนมอบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นํ้ามันถั่วเหลือง และสินค้าต่อเนื่องที่อาจต้องล้มกันทั้งห่วงโซ่ หากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีทางออก หรือเร่งดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องนี้อย่างไร จากที่ผ่านมาบอกแต่เพียงห้ามใช้
.
นอกจากนี้ทูตเกษตรของบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยนำเข้าถั่วเหลืองมากกว่า 50% ได้มาพบที่สมาคมฯ และได้สอบถามว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะค้าขายกันอย่างไร หากรัฐบาลไทยไม่แก้ไขจะนำเรื่องฟ้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO แน่
.
ด้านนายสืบวงษ์ สุขะมงคล นายกสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลี จากบราซิลมากสุด รองมาคือสหรัฐฯ และอาร์เจนตินา ดังนั้นมีวิธีการแก้ไขเพื่อช่วยผู้ประกอบการคือรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข จะต้องออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้างให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ WTO ในกรณีที่ไทยผลิตสินค้าเองไม่ได้ หรือไม่เพียงพอ น่าจะมีการผ่อนปรนหรือยืดหยุ่น จากมีข้อพิสูจน์แล้วว่าสารตกค้างเท่าใดไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์