ผู้ว่าแบงก์ชาติสหรัฐแง้มอาจกระชากดอกเบี้ยถึง 0.5% มากกว่าครั้งละ 0.25%

501
0
Share:
ธนาคารกลางสหรัฐ

นายราฟาเอล ดับเบิลยู โบสติก ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด สาขาแอทแลนต้า กล่างว่า หากจำเป็น โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อสูงทะยานมากขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาไม่เคยปฏิเสธการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นถึง 0.5% ซึ่งมากกว่าภาวะปกติของการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ครั้งละ 0.25%

ในขณะที่มุมมองส่วนตัวของผู้ว่าเฟดสาขาแอทแลนต้าคนนี้ เคยมองว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 3 ครั้งๆละ 0.25% ในปี 2565 โดยจะเริ่มตั้งแต่การประชุมเฟดในเดือนมีนาคมนี้

นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโนมูระ ญี่ปุ่น ดูจะมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันกับผู้ว่าการเฟดสาขาแอทแลนต้า โดยประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นถึง 0.5% ในการประชุมครั้งที่ 2 ของปีนี้ในเดือนมีนาคม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นรายครั้งที่มากที่สุดในรอบ 22 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา

ด้านธนาคารโกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นถึง 5 ครั้งในปีนี้ ประกอบด้วย มีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคม กันยายน และธันวาคม ในขณะเดียวกัน มองว่าเฟดจะเริ่มลดงบดุลของเฟด หรือเริ่มมาตรการขึ้นดอกเบี้ยและทยอยยุติมาตรการคิวอีในเดือนมิถุนายนนี้

สำหรับธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา ซึ่งมีมุมมองในการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในเชิงรุก เปิดเผยว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 7 ครั้งในปี 2565 ซึ่งเป็นเพียงธนาคารเดียวในขณะนี้ที่ประเมินการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดมากที่สุด

ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ในฝรั่งเศส ประเมินว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยรวม 6 ครั้ง และมุมมองที่จะขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นมีเพียง 5 ครั้งในปีนี้มาตากธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค และธนาคารดอยช์ท แบงก์ เอจี จากเยอรมนี

ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 64 ในสหรัฐอเมริกาพุ่งทะยานถึง 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 ส่งผลทำสถิติสูงสุดในรอบ 39 ปี หรือตั้งแต่ปี 1982 ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ขยายตัวสูงถึง 6.9% ทำให้ตลอดทั้งปี 2564 สหรัฐอเมริกามีเศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 5.7% ทำสถิติภาวะเศรษฐกิจพุ่งทะยานมากที่สุดในรอบ 37 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา