ผู้ว่าแบงก์ชาติเผยคนไทยเหลื่อมล้ำทางโอกาสตั้งแต่อยู่ในครรภ์

620
0
Share:

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 63 ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริงว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาที่สั่งสมมานาน ทั้งความเสื่อมถอยของผลิตภาค การขาดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับสูง และการขาดความคุ้มกันในหลายระดับของสังคมไทย ดังนั้นไทยจะต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในทุกมิติ
.
อย่างไรก็ตาม การที่จะให้คนไทยอยู่ดีกินดีได้อย่างยั่งยืน ระบบเศรษฐกิจไทยจะต้องมีรากฐานที่ดีอย่างน้อย 3 ด้าน คือ
.
1.คนไทยและธุรกิจไทยจะต้องมีผลิตภาพสูง และมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งด้านจุลภาค โดยธุรกิจไทยจำนวนมาก ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร มีผลิตภาคต่ำ ซึ่งมีเหตุผลมาจากการขาดแรงจูงใจ และแรงกดดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ต้องเผชิญอุปสรรคในการพัฒนาทักษะและการเข้าถึงเทคโนโลยี
.
2.คนไทยและธุรกิจไทยต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆในโลก ที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือสูง เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขาดประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยต่างๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข
.
ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางทางการเงิน ครัวเรือนและธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะ SME มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการออม และสินเชื่อ ทำให้ไม่มีแหล่งเงินสำรองเพื่อไว้ใช้ในยามวิกฤติ รวมทั้งไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มจากสถาบันการเงินในระบบได้ ในสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน นอกจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิงเศรษฐกิจต่างประเทศมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกสินค้าและบริการเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่การพึ่งพิงดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมาก ต่อระบบเศรษฐกิจไทย
.
3.การกระจายผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจจะต้องทั่วถึงและไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยรุนแรงขึ้น คนไทยต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทางโอกาสตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีทุนทรัพย์น้อย มักมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อโตขึ้นมาก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เข้าถึงบริการสุขภาพและทรัพยากรต่างๆที่แตกต่างกัน
.
นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจในภาคครัวเรือน ประชากรที่มีรายได้สูงสุด 1% แรกของประเทศมีรายได้รวมกัน 20% ของรายได้ทั้งหมดของประชากรทั้งประเทศ ส่วนในภาคการผลิตผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด 5% ครองส่วนแบ่งรายได้ 85% ของการผลิตนอกภาคเกษตรทั้งหมด ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้เป็นทั้งอาการและสาเหตุของปัญหาที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆทางสังคมอีกมาก นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวเชิงพื้นที่สูง ผลผลิตมวลรวมรายจังหวัดต่อหัว ของจังหวัดที่สูงสุด สูงกว่าจังหวัดที่ต่ำสุดถึง 18 เท่า
.
บทบาทของภาครัฐที่สำคัญ คือ ต้องสร้างและสนับสนุนกลไกที่จะช่วยให้แรงงานและผู้ประกอบการจำนวนมาก สามารถพัฒนาผลิตภาคและทักษะได้อย่างรวดเร็ว การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องจำเป็นและต้องเริ่มทำทันที ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด มีข้อควรคำนึงถึงที่สำคัญ ด้านแรก การเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น ต้องสอดคล้องกับทิศทางของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ในขณะที่ทุนของครัวเรือนและธุรกิจลดลงเรื่อยๆ และทรัพยากรของภาครัฐก็มีจำกัด
.
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาครัฐขาดความรู้และความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และอาจไม่สามารถคัดสรรกลุ่มผู้ประกอบการที่สมควรได้รับการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงเวลายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงหลายเรื่อง ภาครัฐจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการเอง แต่ต้องอาศัยกลไกตลาดเป็นตัวช่วย ในการคัดกรอง ติดตาม และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
.
ด้านสองการปฏิรูปโครงสร้างจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากไม่สามารถย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลดอุปสรรคในการโยกย้ายทรัพยากรข้ามธุรกิจและข้ามภาคเศรษฐกิจ วิกฤติโควิดทำให้หลายอุปสงค์เปลี่ยนไปอย่างถาวรการโยกย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินไปยังภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงกว่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น การทำให้กระบวนการโยกย้ายมีต้นทุนต่ำลงมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเป็นรากฐานสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป
.
ด้านที่สาม ท้องถิ่นต่างจังหวัดจะเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมชนบท เปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ ประชากรวัยทำงานจำนวนมากต้องทิ้งภูมิลำเนาต้องเข้าทำงานเมืองใหญ่ จึงเกิดปัญหาครอบครัวโหว่กลางทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งแรงงานสูงอายุในภาคเกษตร ปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์เป็นต้น
.
ทั้งนี้ จากวิกฤติโควิด-19 สิ่งที่ไม่ได้เห็นและไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 40 คือการย้ายกลับภูมิลำเนาของแรงงานมากกว่า 1 ล้านคน ถือเป็นพลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัด สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมชนบท ยกระดับวิสาหกิจชุมชน เป็นโอกาสในการเพิ่มอุปทานและกำลังซื้อในท้องถิ่น แต่ละท้องถิ่นจะพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะลดการพึ่งพิงส่วนกลางได้