ผู้ว่า ธปท.มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 7.8-8% ชี้จะเข้าสู่ภาวะปกติไตรมาส 3 ปี 2565

795
0
Share:

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทย คาดว่าจะติดลบต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปี 2564 ก่อนที่จะพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในไตรมาส 2 ปี 2564 และคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติก่อนที่จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง ไตรมาส 3 ปี 2565
.
ส่วนจีดีพีไทยปีนี้จะติดลบ 7.8 – 8% โดยยอมรับว่าวิกฤติโควิด-19 เป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อมกันในหลายประเทศ รวมทั้งไทยที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก
.
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีนี้คาดว่าจะเหลือ 6.7 ล้านคน จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน หรือคิดเป็นรายรับที่หายไปถึง 10% ของจีดีพี ด้านการส่งออกสินค้าไทยในไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี เปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู
.
แต่มองว่าหลังจากคลายมาตรการล็อกดาวน์ ประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน คือ
.
1.การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก ทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของธุรกิจ
.
2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลานานไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างของสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า
.
3.ยังมีความไม่แน่นอนว่าวัคซีนจะสำเร็จเมื่อไหร่ ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ระดับไหน เป็นต้น
.
แต่เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะก้าวพ้นวิกฤติครั้งนี้ เพราะไทยสามารถคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดี เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี เสถียรภาพต่างประเทศเข้มแข็ง หนี้สาธารณะยังอยู่ต่ำกว่าเพดานและยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ รวมถึงตลาดแรงงานยังมีความยืดหยุ่น
.
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในช่วงวันที่ 22 ต.ค. นี้ จะต้องเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น และไม่เป็นการทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเงินในระยะยาว เนื่องจากมองว่า หากสถาบันการเงินพักชำระหนี้ออกไปอีก 1 ปีเป็นการทั่วไป จะส่งผลให้กระแสเงินสดหายไปจากสถาบันการเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงินด้วย
.
ส่วนโจทย์ใหญ่ของธปท. หลังจากนี้ คือ 1.แก้วิกฤติหนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี รายย่อย เพื่อให้ผ่านพ้นจากวิกฤติ โดยการดูแลสภาพคล่อง การดูแลปรับโครงสร้างหนี้
.
2.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินให้เข้มแข็ง มีทุนสำรองเพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าสถาบันการเงินจะสามารถทำหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
.
3.รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อรองรับหลังวิกฤติโควิด-19 และรองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นกับภาคการเงินด้วย
.
4.ความเชื่อมั่นของสาธารณชน การสื่อสารกับประชาชน
.
5.ประสิทธิการดำเนินงาน และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย
.
ด้านนโยบายการเงินในปัจจุบัน ไทยดอกเบี้ยนโยบายต่ำที่สุดในภูมิภาค และต่ำที่สุดในประวัติการณ์ ดังนั้นความสามารถในด้านดอกเบี้ยเองมีจำกัด จึงมองว่า บทบาทของมาตรการอื่นๆ รวมถึงมาตรการทางด้านการคลังจะเป็นพระเอก แต่สำหรับธปท. ยืนยันว่า จะดูแลในเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดอกเบี้ย สภาพคล่องโดยรวม สภาวะในตลาดการเงินโดยรวม เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับสถานการณ์การชุมนุม การเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองนั้น ยืนยันว่า จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด