พาณิชย์จับตาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน หวั่นกลับมาปะทุอีกครั้ง

696
0
Share:

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ยังมีความกังวลหากสหรัฐฯ และจีน อาจกลับมามีความขัดแย้งทางการค้ากันอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่า สหรัฐฯ อาจยกเลิกข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกกับจีน หากจีนไม่ทำตามข้อตกลงการซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 2 ปี หรือระหว่างวันที่ วันที่ 1 ม.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2564
.
โดยสหรัฐฯพร้อมจะกลับมาใช้มาตรการกับจีนเพิ่มเติม โดยอ้างเหตุการพบความเชื่อมโยงระหว่างจีนและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังสร้างความเสียหายต่อประชากรและเศรษฐกิจโลกอย่างกว้างขวาง โดยสหรัฐฯเร่งผลักดันให้จีนซื้อสินค้า อาจเกิดจากความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนที่หดตัวครั้งแรกในรอบ 33 ปี จะเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ตามที่จีนตกลงไว้
.
นอกจากนี้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารกดดันให้จีนซื้อสินค้าพลังงานจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่จีนมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 19 – 20 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่นำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในปริมาณน้อยมาก
.
อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่วันลงนามข้อตกลงฯ เมื่อ 15 ม.ค. 2563 จีนได้ทยอยดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ อาทิ ในด้านการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร จีนได้ยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้า และเพิ่มความสะดวกในการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หลายรายการ เช่น สัตว์ปีกและสินค้าสัตวปีก อาหารสัตว์ โปรตีนจากสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม นมผงทารก และมันฝรั่งสด
.
โดยข้อมูลการค้าสหรัฐฯ – จีน ในไตรมาสแรกของปี 2563 จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าภายใต้ข้อตกลงฯ เป็นมูลค่ารวม 19,995 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.1 เทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน จากกลุ่มอุตสาหกรรมและสินค้ากลุ่มพลังงาน ที่ชะลอตัวลงร้อยละ 17.0 และ 69.1 ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการผลิตและเศรษฐกิจจีนชะงักงันช่วงต้นปี
.
ขณะเดียวกันจีนมีการนำเข้าสินค้าภายใต้ข้อตกลงฯ เพียงร้อยละ 11.8 ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าที่จีนตกลงจะนำเข้าทั้งปีที่ 169,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ เร่งผลักดันให้จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงฯ
.
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรก กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานประเมินและระงับข้อพิพาทสองฝ่าย ซึ่งขณะนี้ทางการสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลที่มาของการแพร่ระบาดเพิ่มเติม และพิจารณามาตรการที่อาจนำมาใช้กับจีน เช่น การคว่ำบาตร การยกเลิกการจ่ายคืนหนี้ที่กู้ยืมจากจีนในรูปพันธบัตร และนโยบายทางการค้าใหม่เพิ่มเติมจากเดิม
.
แต่ท่ามกลางสงครามการค้าในปีที่ผ่านมา แม้ว่าการส่งออกจากไทยไปจีนจะหดตัวที่ร้อยละ 3.8 แต่การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 11.8 และไทยยังมีโอกาสในทั้งสองตลาดด้วยความสามารถในการทดแทนสินค้าที่สหรัฐฯ และจีนขึ้นภาษีระหว่างกัน
.
สำหรับการส่งออกของไทยในปี 2563 พบว่า สินค้าที่เคยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างอิเล็กทรอนิกส์ กลับมาขยายตัวตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 สะท้อนการปรับตัวของการส่งออกไทย ทำให้ผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยเริ่มลดลง และอานิสงส์จากการที่ไทยสามารถเป็นห่วงโซ่การผลิต ทดแทนสินค้าจีน ในช่วงโรงงานในอู่ฮั่นปิดทำการจากไวรัสโควิด-19 โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 การส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 4.5 สินค้าที่เติบโตได้ดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ วงจรพิมพ์ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์
.
อย่างไรก็ตาม ยังต้องประเมินแนวโน้มการทดแทนอีกสักระยะว่าประเทศผู้นำเข้าจะใช้แหล่งทางเลือกทดแทนจีน เพื่อกระจายความเสี่ยงอย่างถาวรหรือไม่ ภายหลังโรงงานในจีนกลับมาเปิดทำการตามปกติ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารก็ขยายตัวได้ดี ตอบสนองแนวโน้มความต้องการความมั่นคงทางอาหารท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19