ฟิทช์เรตติ้งชี้ตั้งรัฐบาลช้า ส่งผลเสียเศรษฐกิจไทย อันดับน่าเชื่อถือไทยอาจลดลง

192
0
Share:
ฟิทช์ เรตติ้ง ชี้ ตั้งรัฐบาล ช้า ส่งผลเสีย เศรษฐกิจไทย อันดับน่าเชื่อถือไทยอาจลดลง

ฟิทช์ เรตติ้งส์ (Fitch Ratings) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือเรตติ้งชื่อดังระดับโลก เปิดเผยบทวิเคราะห์ในหัวข้อประเทศไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและการคลังที่ยืดเยื้อหลังการเลือกตั้ง บทวิเคราะห์ดังกล่าวมีมุมมองดังนี้

ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการคลังดูเหมือนจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งอันดับเครดิตของประเทศไทยในระยะสั้นหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แม้ว่าประเทศจะยังคงได้รับประโยชน์จากภาคการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่ง กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว

คณะกรรมการการเลือกตั้งของไทยมีเวลาถึง 60 วันในการประกาศผลอย่างเป็นทางการหลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม แต่ตัวเลขเบื้องต้นชี้ว่าพรรคก้าวไกลได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับพรรคเพื่อไทย พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดก่อนหน้านี้ ที่ตามมาเป็นอันดับที่ 2

ฟิทช์ เรตติ้งส์ มองว่ายังไม่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลจะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคเพื่อไทยและพรรคเล็ก ๆ หลายพรรค พันธมิตรที่มีศักยภาพ (ในการจัดตั้งรัฐบาล) อาจประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย ที่มีการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายอย่างหลากหลาย การกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพอาจถูกจำกัดชั่วคราวหากกระบวนการสรรหาพันธมิตรร่วมรัฐบาลทำให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าไปหลายเดือน

การคาดการณ์ของเราในกรณีพื้นฐาน (base case) ผลกระทบต่อเครดิตของประเทศไทยในระยะสั้นจะมีจำกัด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่เราคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

เราระบุไว้กว้าง ๆ ว่า อาจเกิดรัฐบาลผสมที่กระจัดกระจาย ทำให้การกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพนั้นกลายเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ก็ไม่น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แนวโน้มนโยบายการคลังไม่แน่นอน แต่เราคาดว่ารัฐบาลผสมชุดต่อไปจะยังคงยึดมั่นในนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญบางส่วนของรัฐบาลชุดที่แล้ว

ฟิทช์ เรตติ้งส์ เปิดเผยว่า อาจมีการหยุดชะงักในการใช้จ่ายภายใต้งบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2567 ที่สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2567 หากการเจรจาร่วมจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ ดังที่เกิดขึ้นกับงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 หลังการเลือกตั้งปี 2562

ความล่าช้าของงบประมาณปีงบประมาณ 2567 จะส่งผลลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่เรายังคงคาดว่าการเติบโตจะเร่งตัวขึ้นในปี 2566 และจะยังคงแข็งแกร่งในปี 2567 โดยมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

ตัวชี้วัดภาคการคลังสาธารณะของไทยที่เสื่อมถอยลงอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ไปกระทบอันดับเครดิตปัจจุบัน แต่ฟิทช์คาดการณ์ว่า หนี้ภาครัฐทั่วไป/จีดีพี และดอกเบี้ย/รายได้ ในปี 2566-2567 จะยังคงอยู่ในระนาบตามค่ามัธยฐาน (median) ของกลุ่มประเทศที่มีความน่าเชื่อถือในระดับ ‘BBB’

หากรัฐบาลชุดต่อไปไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของสัดส่วนหนี้ภาครัฐได้ ตัวอย่างเช่น มีแรงกดดันด้านการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง หรือมีผลกระทบจากภายนอกซึ่งอยู่นอกเหนือสมมติฐานพื้นฐานของเรา นั่นจะส่งผลให้อันดับเครดิตของประเทศตกต่ำลง

ในระหว่างการหาเสียง พรรคการเมืองส่วนมากนำเสนอนโยบายที่อาจต้องใช้รายจ่ายเพิ่มเติมจำนวนมาก สิ่งนี้อาจท้าทายโอกาสในการรัดเข็มขัดทางการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่ปัจจัยทางประชากรศาสตร์ไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอื่น ๆ รวมถึงอัตราการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตของรายได้ จะส่งผลต่อผลลัพธ์ทางการคลังด้วยเช่นกัน

ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อยิ่งขึ้น หรือความตึงเครียดทางสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระหว่างกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสถานะเครดิตของประเทศไทย แม้ว่านี่จะไม่ใช่สมมติฐานพื้นฐานของเราก็ตาม

ทั้งนี้ ฟิทช์ เรตติ้งส์ วิเคราะห์ปิดท้ายว่า ได้กล่าวไว้ในเดือนพฤศจิกายนว่า (ถ้ามี) การหยุดชะงักทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในระดับที่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงประสิทธิผลในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ อาจส่งผลเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ