มาถึงจุดนี้แล้ว! ไทยต้องผลิตนักจิตแพทย์ให้ได้ 400 คนใน 5 ปีหน้า

252
0
Share:
มาถึงจุดนี้แล้ว! ไทยต้องผลิต นักจิตแพทย์ ให้ได้ 400 คนใน 5 ปีหน้า

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไทยเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข จากระบบคลังข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการตามการรักษาจากทุกสิทธิ์รวมกัน 2,519,255 คน ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ พ.ศ. 2564 มีแนวทาง “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย”นั้น คาดการณ์ว่าผู้เสพยาเสพติดจะมีประมาณ 1.9 ล้านคน

ทั้งนี้ จำแนกตามลักษณะความรุนแรงของการเสพติดเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้เสพติด 35,000 คน ต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูระยะยาว โดยส่งต่อสถานบริการหรือโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีจิตแพทย์ให้การดูแลรักษาต่อเนื่อง 2.กลุ่มผู้เสพ 456,000 คน กลุ่มนี้ควรเข้าการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยสถานพยาบาลในพื้นที่โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ผู้ผ่านการอบรมและมีจิตแพทย์ของจังหวัดเป็นพี่เลี้ยง และ 3.กลุ่มผู้ใช้ 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถดูแลได้ในพื้นที่ด้วยกลไกชุมชนที่บูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานในและนอกกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ทีมสาธารณสุข 3 หมอ ได้แก่ รพช. รพ.สต.และอสม.ซึ่งดูแลส่งเสริมสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิดในชุมชน ได้ร่วมจัดทำแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยกลุ่มนี้ร่วมกับจิตแพทย์ในแต่ละจังหวัดและเขตสุขภาพในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ทำให้เกิดการดูแลต่อเนื่องเชื่อมโยงในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ

นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขวางกลไกสำคัญในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด โดยขณะนี้ สป.เปิดหอผู้ป่วยในผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ณ รพศ.และรพท.แล้ว 33 จังหวัดใน 11 เขตสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 42.9 ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย และยังจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ใน รพช. 268 แห่ง หรือร้อยละ 34.58 ช่วยรองรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลบำบัดต่อเนื่องใกล้บ้านทำให้การบริการไร้รอยต่อ ผู้ป่วยฟื้นสุขภาวะที่ดีและอยู่ได้ในสังคมอย่างสุขสงบ

ทั้งนี้ วันที่ 24-25 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต จิตเวชฉุกเฉินและยาเสพติด ณ รร.ไมด้า แกรนด์ ทราวดี จังหวัดนครปฐม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขระดับสูงและผู้บริหาร รพศ.และ รพท.ต่างร่วมใจมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบาย สธ. เร่งเพิ่มศักยภาพบุคลากรและสถานที่ให้พร้อมบริการดูแลแบบผู้ป่วยจิตเวชแบบผู้ป่วยในให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 นี้

อย่างไรก็ตาม การเปิดหอผู้ป่วยในรักษาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดใน รพศ.และ รพท. ต้องอาศัยอัตรากำลังจิตแพทย์ที่พอเพียงในการปฏิบัติงานบำบัดผู้ป่วยอย่างเข้มข้นจนอาการฉุกเฉินทุเลาแล้วพิจารณาส่งต่ออย่างเหมาะสม รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ใน รพช.ทุกแห่งที่ต้องมีจิตแพทย์ในจังหวัดหรือเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยงในการจัดระบบบริการรับ-ส่งต่อดูแลต่อเนื่องแก่ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในพื้นที่ได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงสนับสนุนกรอบอัตรากำลังจิตแพทย์และมีแผนขยายการฝึกอบรมจิตแพทย์ให้สามารถเอื้อการผลิตจิตแพทย์ได้โดยเร็วยิ่งขึ้น

พญ.อัมพร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะจิตแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นยังขาดแคลน ปัจจุบันมีจิตแพทย์ให้บริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครเพียง 822 คน จำแนกเป็นจิตแพทย์ทั่วไป 632 คน ร้อยละ 76.9 และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 190 คน ร้อยละ 23.1 อัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ 1.25 คน ต่อแสนประชากรในปี 2565 โดยกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 367 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 114 คน ภาคกลาง (รวมตะวันตก) 112 คน ภาคเหนือ 103 คน ภาคใต้ 83 คน และภาคตะวันออก 43 คน

ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้ประสานความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มการผลิตจิตแพทย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าหมายการเพิ่มอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์เป็น 1.7 คนต่อแสนประชากร โดยร่วมผลักดันผลิตจิตแพทย์ให้ได้ 400 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมกระจายบริการในทุกเขตสุขภาพ ให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการใกล้บ้านอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้