มีเกรงใจ! ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ถามรัฐบาล เกรงใจเจ้าของบริษัทวัคซีนมากกว่าจะเห็นคนตายไม่ต่างจากใบไม้ร่วงงั้นหรือ

467
0
Share:

วันนี้ 17 กรกฎาคม 2564 ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยเกี่ยวกับความรู้สึกของบุคคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลที่ต้องต่อสู้กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะทำไมรัฐบาลไทยถึงได้เกรงใจฝรั่งเจ้าของบริษัทวัคซีน มากกว่าจะได้เห็นการล้มตายเป็นใบไม้ร่วง มีดังนี้

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2564 วันที่ 97 ของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์และวันที่สามสิบเก้าของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต ดูเหมือนจะยังไม่มีข่าวดีเกิดขึ้นทั้งที่นี่ และในประเทศไทย ผู้ป่วยใหม่ในประเทศวันนี้เกือบ 9,700 คน

เช้านี้ที่ธรรมศาสตร์เ ราได้รับรายงานว่าบุคลากรของเราที่ swabเมื่อคืน มีผลเป็นบวกอีกสี่ราย เป็นแพทย์หนึ่ง พยาบาลสองและเจ้าหน้าที่สนับสนุนอีกหนึ่ง เราคงต้องกักตัวคนที่คอนแทคและเสี่ยงสูงอีกอย่างน้อย 30 คนในวันนี้

สัปดาห์นี้สัปดาห์เดียว เรามีกำลังพลที่ต้องหยุดงานและถูกกักตัวอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ไปแล้ว มากกว่า 300คน

ยิ่งไปกว่านั้น เช้านี้ที่ วอร์ดฉุกเฉิน ER รายงานว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ามารับการรักษาเมื่อคืน และถูกจัดอยู่ในกลุ่มและโซนของผู้ป่วยปกติ ปรากฏว่า มีผลการตรวจเชื้อเป็นบวก สิ่งที่ตามมาโดยอัตโนมัติก็คือ ผู้ปฏิบัติงานเวรดึกที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องถูกกักตัวและส่งเข้าตรวจหาเชื้อทันที พร้อมๆกับการที่โรงพยาบาลต้องออกประกาศปิดหอผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินเพื่อทำความสะอาด พ่นยาฆ่าเชื้อและอบ UV ฆ่าเชื้อทันทีเป็นเวลา 7 ชั่วโมง นั่นคือการต้องออกประกาศปิด ER หยุดรับผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินตลอดทั้งวันในวันนี้ เป็นครั้งแรกของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์

ที่โรงพยาบาลสนามวันนี้เรารับผู้ป่วยเข้ามา 37 ราย ส่งผู้ป่วยกลับบ้านได้ 34 คน ส่งเข้าโครงการการรักษาตัวที่บ้าน Home isolation และส่งผู้ป่วยอาการมากขึ้นกลับ รพ.ธรรมศาสตร์ได้อีกสามคน ยอด 3 วันนี้เท่ากันที่ 37คน เราจึงยังคงมีผู้ป่วย 314รายเท่าเดิม แต่นี่ยังไม่รวมเคสสอบสวนโรค PUI อีกราว 30 ห้อง ซึ่งเป็นบุคลากรของเราเองทั้งสิ้น

สำหรับโครงการ Home Isolation ซึ่งเป็นความหวังที่จะช่วยประวิงเวลาการล่มของระบบโรงพยาบาลไปได้อีกระยะหนึ่ง วันนี้เรามีความสำเร็จมากพอสมควรเพราะจำนวนผู้ป่วยในโครงการเพิ่มขึ้นอีก30-40 คน อีกสักสองสามวัน เราคงพอจะแน่ใจได้ว่า ระบบนี้จะสามารถช่วยดึงผู้ป่วยออกจากการรอเตียงที่ล้นจนเกินกว่าจะรอได้ในขณะนี้ได้จริงๆ

ที่ศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์ที่ยิม 4 เราฉีดแอสตราเซเนก้า (AZ)ให้กับผู้ที่รอคอยคิวมานานหลายสัปดาห์ไปได้อีก 2,067 คน ทำให้จำนวนรวมของผู้ได้รับวัคซีน AZ จากเราเพิ่มไปเป็นมากกว่า 70,600 คนแล้ว ดูหน้าและมองตาผู้ที่ได้รับวัคซีนไปก็เห็นรอยยิ้มและความหวัง แต่เมื่อนึกต่อไปว่า อีกไม่เกินสัปดาห์เดียว เราจะต้องยุติการฉีดวัคซีน ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าไม่มีวัคซีนมาให้ฉีดอีกแล้ว

ข่าวนี้ทำให้พวกเราหดหู่ และนึกถึงหน้าตาของคนที่เข้าแถวรอคิวเพื่อมาขอให้พวกเราช่วยลงชื่อจองวัคซีนในแอปพลิเคชั่นให้วันละหลายร้อยคน และคนที่ฟันฝ่าจนจองลงแอปฯได้ ที่เรามีชื่ออยู่ในบัญชีแล้วเกือบห้าหมื่นคน และกำลังอยู่ในแผนงานที่จะอัพโหลดรายชื่อเหล่านี้ทั้งหมดขึ้นคิวในปลายเดือนนี้กับต้นเดือน ส.ค.

เราประเมินว่าในช่วงต่อไปเราจะนัดคิวฉีดวัคซีนได้วันละ 3,000 คน และภายใน 14 วัน คิวที่รอทั้งหมดก็จะได้ฉีดครบทั้งห้าหมื่นคนแต่ข่าวที่เราได้รับทราบมาก็คือ รัฐบาลจะไม่สามารถหา AZ มาให้ได้อีกแล้ว ในขณะนี้ ข่าวนี้ทำให้พวกเราช็อค และคงทำให้คนที่รอคิวฉีดต่อไปอีกห้าหมื่นคนเฉพาะที่ธรรมศาสตร์ช็อคตามไปด้วย

ถ้าศักยภาพของประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้สักวันละ 200,000 โดส การจัดหาวัคซีนให้ได้เพียงพอสำหรับประชาชนผู้รอคอยอยู่ในเดือนสิงหาคมทั้งเดือนก็คือ เพียง 6 ล้านโดสเท่านั้น ต่ำกว่าจำนวนที่รัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเคยสัญญากับประชาชนไทยไว้ว่าจะมีวัคซีน AZ เข้ามาเดือนละ 10 ล้านโดสตั้งแยะและต่ำกว่าศักยภาพการผลิต AZ ของบริษัทผู้ผลิตในประเทศที่ประกาศว่าจะทำได้เดือนละ 15 ล้านโดสตั้งสองเท่าครึ่ง

แล้วรัฐบาลที่เคยบอกประชาชนว่า ได้ทำสัญญาสั่งซื้อ และจ่ายเงินของประเทศไปตั้งหลายพันล้านบาท จะไม่มีสติปัญญาที่จะจัดหาวัคซีนเพียงบางส่วนของที่เคยสัญญาไว้มาให้ประชาชนได้ฉีดหรือ?

รัฐบาลบริหารสัญญาอย่างไร?

รัฐบาลได้ทำหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรจะเป็นแล้วหรือ?

รัฐบาลได้รับรู้ไหมว่าประชาชนกำลังล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วง?

และระบบสาธารณสุขที่ยืนต้านรับอยู่ในสงครามโควิด ที่ถูกขอให้รบหน่วงเวลาเพื่อช่วยดูแลผู้คนไม่ให้ตายมากขึ้น ช่วยรักษาผู้ป่วยให้หายกลับบ้านให้ได้มากที่สุด กำลังอ่อนล้าและกำลังจะหมดพลังลง

การที่พวกเราช่วยรบหน่วงเวลาต่อเนื่องโดยไม่หยุดเลยกันมาสามเดือนเศษแล้ว ก็เพียงพื่อรอโอกาสให้พี่น้องประชาชนของเราได้มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น และเจ็บป่วยน้อยลงจากการได้รับวัคซีน

ถ้าหากผู้บริหารประเทศไม่มีสติปัญญาพอที่จะจัดหาวัคซีนมาให้ทันเวลา สุดท้าย ระบบสาธารณสุขและผู้คนด่านหน้าของเราก็จะล้มตายลงไปทับถมกับประชาชนที่เจ็บป่วยจากโรคร้ายนี้ด้วย อยากรู้จริงๆว่า รัฐบาลตระหนักถึงความล่มสลายของระบบสาธารณสุขที่กำลังจะมาถึง และความล่มสลายของประเทศที่จะตามมาด้วยไหมนะ

ถ้าโรงงานผลิตวัคซีน AZ อยู่ในประเทศ ทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่ทำอย่างที่รัฐบาลอินเดียทำเมื่อสองเดือนที่แล้ว ที่เขาใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและห้ามส่งวัคซีนออกนอกประเทศชั่วคราว จนกว่าภาวะวิกฤตในประเทศจะเบาบางลง ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการนโยบายวัคซีนแห่งชาติก็เพิ่งจะเสนอให้ทำเช่นนั้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งที่ในกรณีของประเทศไทยเราอาจจะร้องขออย่างจำกัด หรืออาจจะกราบไหว้อ้อนวอนก็ได้

ขอเพียงให้มีวัคซีนให้เราแค่เดือนละ 6 ล้านโดส จากกำลังการผลิต 15 ล้านโดสของบริษัท เพื่อมาใช้ฉีดให้กับประชาชนในประเทศเพื่อป้องกันการล้มตายเป็นใบไม้ร่วงต่อเนื่องของประชาชนชาวไทยก่อน

เราไม่ได้ห้ามการส่งออกส่วนที่เหลือทั้งหมดอย่างที่รัฐบาลอินเดียทำด้วยซ้ำ

ทำไมรัฐบาลไทยถึงได้เกรงใจฝรั่งเจ้าของบริษัทวัคซีน มากกว่าการจะได้เห็นการล้มตายเป็นใบไม้ร่วงของผู้คนในประเทศที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้นะ?

# อนาคตจะต้องมีประเทศไทย ไม่ว่าจะมีใครจะมาเป็นรัฐบาล