ยักษ์ธนาคารใหญ่สุดในสหรัฐ ตั้งวอรูมประชุมทุกสัปดาห์ จ่อรับมือวิกฤติสหรัฐชักดาบ

137
0
Share:
ยักษ์ ธนาคาร ใหญ่สุดในสหรัฐ ตั้งวอรูมประชุมทุกสัปดาห์ จ่อรับมือ วิกฤติ สหรัฐ ชักดาบ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ นายเจมี ดีม่อน ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ซึ่งเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ธนาคารได้เริ่มจัดประชุมรายสัปดาห์เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ภาวะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะส่งผลมาถึงสภาพเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และธุรกิจธนาคาร ไม่เพียงเท่านั้น ยังจัดตั้งวอร์รูมหรือการประชุมรายวันในวันที่ 21 พฤษภาคมเป็นต้นไปอีกด้วย เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากฝ่ายการเมืองสหรัฐอเมริกาไม่สามารถหาทางออกในวิกฤตครั้งนี้ได้ ได้แก่ สัญญาธุรกรรมธนาคาร สินทรัพย์ค้ำประกัน และธุรกรรมการชำระระหว่างธนาคาร

ขณะที่เมื่อวานนี้ 11 พฤษภาคม ซีอีโอ นายเจมี ดีม่อน ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค กล่าวว่า ความขัดแย้งที่ไม่มีทางออกในรัฐสภาสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับกฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะ และสถานะของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ อาจนำไปสู่ภาวะตลาดเงินและตลาดทุนวุ่นวายอย่างรุนแรง

เมื่อตลาดการเงินและตลาดทุนเกิดความวุ่นวาย นั่นคือสิ่งที่ทุกคนเคยเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2008-2009 ในสหรัฐอเมริกามาก่อนแล้ว เหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น คือสิ่งที่ทุกคนต้องพยายามหลีกเลี่ยง

ซีอีโอ นายเจมี ดีม่อน ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวหวังว่าสักวัน การเมืองสหรัฐอเมริกาจะหาทางออกของปัญหานี้ได้ ก่อนที่ประชาชนชาวอเมริกันจะเผชิญกับวันเอ็กซ์เดท (X-date) หรือวันที่รัฐบาลสหรัฐไม่มีเงินเหลือจะชำระหนี้คืนได้ ซึ่งหมายถึงวันที่ 1 มิถุนายนนี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 เมษายนผ่านมา นางเจเน็ท เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ถ้าหากรัฐสภาสหรัฐอเมริกาประสบความล้มเหลวในการขยายเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลอเมริกัน และเข้าสู่ภาวะไม่สามารถชำระหนี้คืนต่อนักลงทุน อาจนำไปสู่เศรษฐกิจวิบัติ ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด มีความจำเป็นในการรักษาอัตราดอกเบี้ยอยู่ทรงตัวในระดับสูงต่อไป

นอกจากนี้ ภาวะการชักดาบหนี้ของรัฐบาลอเมริกัน ยังจะส่งผลกระทบไปถึงภาวะการว่างงานเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกา กล่าวต่อไปว่า รัฐสภาจะค้องมีความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานในการขยายเพิ่ม หรือยกเลิกเพดานการกู้ยืมเงินที่จำกัดเพดานไว้ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 110 ล้านล้านบาท จึงขอเตือนว่าสภาพที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะเป็นสิ่งที่คุกคามต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัวและขยายตัวอย่างแข็งแกร่งนับตั้งแต่วิกฤตโรคระบาดโควิด-19

ภาวะที่รัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะทำให้ต้นทุนในการระดมทุน หรือกู้ยืมเงินพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด การลงทุนในอนาคตอาจนำไปสู่การลงทุนที่มีต้นทุนสูงมากมาย ภาคธุรกิจอเมริกันจะเผชิญกับภาวะตลาดสินเชื่อที่ตกต่ำรุนแรง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะไม่สามารถจ่ายเงินงบประมาณด้านรายได้และสวัสดิการให้กับสมาชิกครอบครัวของกองทัพรวมไปถึงประชาชนชาวอเมริกันที่เกษียณไปแล้ว ซึ่งหวังพึ่งพาระบบเงินประกันสังคม