ยากจนจริง! คนวัยทำงานในไทยลด 30% ธนาคารโลกชี้ 5 ปีผ่านมา งานที่มีในระบบไม่สร้างรายได้พอที่จะใช้ชีวิต ทำคนไทยยากจน

399
0
Share:

ดร.ฟรานเชสก้า ลามานน่า นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายดังกล่าว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มีการประเมินว่า สัดส่วนประชากรในวัยทำงานของคนไทยจะลดลงจาก 71% ในปี 2020 เหลือเพียง 56% ในปี 2060 นั่นหมายถึง จะมีประชากรในวัยทำงานลดลงเกือบ 30% นับเป็นการทำสถิติการลดลงมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยเป็นรองจากเกาหลีใต้ที่ลดลง 43% และญี่ปุ่น ซึ่งลดลง 34% นอกจากนี้ ไทยมีอัตราเสี่ยงที่แรงงานมนุษย์จะการถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติถึง 42%

เมื่อมองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะความยากจน เพราะงานที่มีอยู่ในระบบก็ไม่ทำให้คนมีรายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต สะท้อนชัดเจนว่า คนในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมมากพอ เพราะส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระบบแรงงาน และยังเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งการคุ้มครองทางสังคมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของไทยนั้น ยังมีไม่มากพอ โดยมีเพียง 72% ของประชากรที่ได้รับความช่วยเหลือทางสังคม จากข้อมูลในปี 2564 พบว่าในประเทศอินโดนีเซีย หรือในประเทศอื่น ๆ มีการใช้จ่ายด้านความช่วยเหลือทางด้านสังคมประมาณร้อยละ 2.1 ของจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่มากกว่าประเทศไทย

ดร.ลามานน่า กล่าวต่อไปว่า การมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นในไทยเกิดขึ้น ท่ามกลางประเทศไทยยังมีระดับรายได้ค่อนข้างต่ำ ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว หรือที่เรียกว่าจีดีพีของประเทศในฝั่งเอเชียตะวันออก มีตัวเลขที่สูงกว่าประเทศไทยถึง 2 เท่า ดังนั้น ถ้าไทยต้องการจะเพิ่มตัวเลขจีดีพี หรือเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็ต้องจัดการกับปัญหาภาวะประชากรสูงวัย คิดวิเคราะห์ ปฏิรูปทางด้านสังคม และพัฒนาทักษะแรงงาน

ทั้งนี้ ดร.ฟรานเชสก้า ลามานน่า นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ได้กล่าวประเด็นสำคัญนี้ในการจัดงานสัมมนาออนไลน์ มีชื่อว่า Aging and the Labor in Thailand ในหัวข้อ ทิศทางในอนาคตสำหรับการคุ้มครองทางสังคม และตลาดแรงงานในประเทศไทย ภายใต้ภาวะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการเข้าสู่สังคมสูงวัย