ยุ่งขึ้นล่ะ! หมอชื่อดังชี้ชัด 3 ปัจจัยทำติดเชื้อพุ่งสูงในไทย อันตรายเมื่อหาต้นตอติดเชื้อยากมากขึ้น

514
0
Share:
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สถานการณ์ไทยเรา การระบาดรุนแรง กระจายไปทั่ว ทุกเพศทุกวัย หลายหลายอาชีพ และหากสังเกตจะพบว่ามีหลายต่อหลายเคสที่อาจหาต้นตอที่มาของการติดเชื้อได้ยาก
อย่างที่เคยเล่าให้ฟังมาหลายครั้งว่า พอเข้าสู่ธรรมชาติการระบาดระยะที่สามเช่นนี้ (และนี่ก็เป็นระลอกสามด้วย) ซึ่งเป็นการแพร่กระจายในชุมชนไปอย่างต่อเนื่อง การควบคุมการระบาดจะทำได้ยากยิ่งนัก ยิ่งมีจำนวนมากเท่าไหร่ ยิ่งคุมได้ยากและใช้เวลายาวนานขึ้นตามลำดับ
.
ตามหลักการแล้ว วิธีที่จะมีประสิทธิภาพในการจัดการการระบาดระยะสามนี้คือ การขอให้คนอยู่กับที่ งดการเคลื่อนไหว ตรวจให้มากและครอบคลุม แยกกักตัวผู้ติดเชื้อและดูแลรักษาให้หายดี
ปัญหาของเราตอนนี้คือ ไม่ได้หยุดการเคลื่อนไหว ศักยภาพการตรวจมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ และระบบไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ติดเชื้อเพื่อแยกกักตัวและดูแลรักษาได้อย่างเพียงพอ
.
การแแก้ไขปัญหาจึงต้องทำทั้ง 3 เรื่องนี้พร้อมกันอย่างเต็มที่่ หากไปทำเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คงไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เคยกระตุ้นเตือนมาตลอดให้มีการวางทิศทางนโยบายด้านสุขภาพ ให้ลดความเสี่ยงต่อการรระบาดซ้ำ เน้นย้ำเรื่องการป้องกันตัวเสมอ ระวังการ underestimate ความร้ายกาจของโควิด-19 จัดหาอาวุธที่มีประสิทธิภาพและหลากหลายให้เพียงพอและทันเวลา พร้อมกับเน้นให้เพิ่มศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรคให้มากกว่าที่เคยมี เพื่อให้พร้อมรับมือกับการระบาดซ้ำซึ่งจะรุนแรงกว่าเดิม เพราะเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่เราเรียนรู้ได้จากบทเรียนของประเทศอื่นทั่วโลก ที่มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และที่ประสบความยากลำบากจากการระบาดรุนแรง
.
เชื่อว่าประชาชนทุกคนต่างล้วนให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ จนใกล้ถึงขีดสุดของระบบที่จะรองรับได้ และยังยืนยันที่จะอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจเสมอ
แต่ทิศทางนโยบายนั้นจำเป็นต้องพิจารณาปรับเพื่อให้รอดจากครั้งนี้ และป้องกันไม่ให้เกิดครั้งถัดไป และจะเป็นการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นที่รักของเราทุกคนด้วย
สิ่งที่ประชาชนทุกคนพอจะทำได้ตอนนี้คือ ป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเต็มที่
อยู่บ้านเถิดนะครับ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นจริงๆ และใช้เวลาสั้นๆ ใส่หน้ากากเสมอ ปิดปาก ปิดจมูก หากไม่ลำบากเกินไป ให้ใส่ 2 ชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า จะช่วยให้ฟิตแนบชิดใบหน้ามากขึ้น และป้องกันได้ดีขึ้น พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัว ล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งหลักจับต้องสิ่งของสาธารณะ
.
ระวังการใช้สุขาสาธารณะ ปิดฝาก่อนชักโครก ล้างมือ และใส่หน้ากากเสมอ เลี่ยงการกินดื่มในร้านหรือโรงอาหาร ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดงานแล้วรีบไปตรวจรักษา
หากเราทุกคนร่วมแรงร่วมใจช่วยกันทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน เชื่อว่าทุกอย่างจะช่วยบรรเทาปัญหาลงได้ไม่มากก็น้อย