ยูเค-ยุโรป ชี้ไม่ควรฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาให้อายุต่ำกว่า 30 ปี เชื่อมโยงภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวชัดเจน

510
0
Share:
องค์กรกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเวชภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร หรือ MHRA เปิดแถลงเป็นทางการเกี่ยวกับการประเมินและทบทวนการใช้วัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกาในคืนที่ผ่านมาว่า ประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 อื่นๆทดแทนวัคซีนของแอสตราเซเนกา หรือห้ามฉีดวัคซีนดังกล่าวในผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี สาเหตุจากมีความชัดเจนในการเชื่อมโยง หรือเกี่ยวข้องระหว่างการเกิดภาวะลิ่มเลือดกับการรับวัคซีนแอสตราเซเนกา ถึงแม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงซึ่งทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในร่างกายของผู้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา จะยังมีความไม่แน่นอน หรือยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนก็ตาม
.
การประเมิน และทบทวนวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 แอสตราเซเนกา พบผลการประเมิน ดังนี้ หลังจากมีการฉีดวัคซีนรวมทั้งหมด 20 ล้านโดส พบผู้ป่วยมีภาวะลิ่มเลือดเกิดขึ้นในร่างกายรวม 79 ราย เสียชีวิต 19 ราย ทำให้เกิดอัตราเสี่ยง 4 ใน 1 ล้านที่เกิดภาวะลิ่มเลือด และ 1 ใน 1 ล้านต้องมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น เพศหญิงมีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจาก มีสัดส่วนเกือบ 3 ใน 4 หรือเกือบ 75% ที่พบภาวะลิ่มเลือดหลังได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา
.
ด้านผู้เสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดหลังรับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกานั้น พบว่า มีอายุอยู่ระหว่างช่วง 18 ปี ถึง 79 ปี โดยมีไม่น้อยกว่า 3 ราย ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เสียชีวิต นอกจากนี้ จำนวนผู้ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดล้วนเกิดอาการดังกล่าวหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนในโดสแรก หรือเข็มแรกไปแล้ว
.
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปิดเผยว่า ความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 กับภาวะลิ่มเลือด มีความเป็นไปได้ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ สาเหตุหนึ่งมาจากภาวะลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนนั้น เป็นกรณีที่พบได้ยากมากในจำนวนประชากรเกือบ 200 ล้านคนทั่วโลกที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว
.
นางจูน เรน หัวหน้าผู้บริหาร องค์กรกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเวชภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร หรือ MHRA แถลงว่า อาการหรือผลข้างเคียงที่เกิดจากการรับวัคซีนแอสตราเซเนกา ยังคงเป็นกรณีที่พบได้ยากมาก อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดภาวะลิ่มเลือดต้องดำเนินต่อไป ดังนั้น ความสมดุลย์ระหว่างประโยชน์หลายอย่างกับความเสี่ยงที่รับรู้ได้จากวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ยังคงเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่
.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 นายมาร์โค คาวาเลริ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์วัคซีน และเจ้าหน้าที่อาวุโส องค์กรเวชภัณฑ์ยุโรป หรือ European Medicines Agency (EMA) ให้สัมภาษณ์กับสื่ออิตาลีชื่อดังมีชื่อว่า Il Messaggero ว่า มีความชัดเจนในความเกี่ยวข้อง หรือการเชื่อมโยงระหว่างภาวะลิ่มเลือดกับวัคซีนแอสตราเซเนกา อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาของร่างกายต่อต้านวัคซีนดังกล่าว
ภาวะการก่อตัวลิ่มเลือดในสมองของคนที่มีอายุในช่วงวัยหนุ่มสาว ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 พบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั่วไป
.
ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการได้รับวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 แอสตราเซเนกากับการเกิดภาวะลิ่มเลือดในตัวผู้ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรป และในอเมริกาเหนือ ยังคงมีคำสั่งห้ามฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และแคนาดา
.
ก่อนหน้านี้ องค์กรกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเวชภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร หรือ MHRA เปิดเผยว่า ได้เริ่มทำการพิสูจน์วัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 แอสตราเซเนกา หลังจากที่องค์กร MHRA มีคำสั่งให้ยุติการทดลองฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับประชากรวัยเด็ก สาเหตุจากปัญหาการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสองที่พบในผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งกำลังรอผลการทบทวน และข้อสรุปที่ชัดเจน