รมช.สธ. ยันไทยคุมโควิดได้ตามคาด ‘1 ก.ค.’ นี้ดันเป็นโรคประจำถิ่น ลุ้นถอดหน้ากากได้

403
0
Share:
โรคประจำถิ่น

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวว่าช่วงนึงของการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และบรรยายพิเศษ “ทิศทางและนโยบายภาครัฐ หลังการประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น” เผยว่าไทยเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 มาเกือบ 3 ปี มีการต่อสู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก รพ.เอกชน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เดินหน้ามาจนถึงวันนี้ได้ คือ มีอัตราการติดเชื้อลดลง ผู้ป่วยในสถานพยาบาลและผู้เสียชีวิตก็ลดลง ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 คือ ระยะทรงตัว มีแนวโน้มลดลง

ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าหลัง เม.ย.ตัวเลขติดเชื้อจะสูงขึ้น แต่เทรนด์ขณะนี้ลดลง ตัวเลขในระบบอาจจะยังไม่ตรงกับสถานการณ์จริง ซึ่งไม่ใช่ว่าปิดบังตัวเลข แต่อาจมีผู้ที่ไม่ได้รายงานเข้ามา สำหรับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น เรามีการประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้ หากทำได้ตามหลักเกณฑ์ก็น่าจะพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามเป้าหมายคือช่วงวันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศชัดเจนเรื่องโรคประจำถิ่น และยังกังวลถึงโอกาสการกลายพันธุ์ แต่การติดตามการกลายพันธุ์ขณะนี้ยังไม่พบที่น่ากังวล

ซึ่งอนามัยโลกได้ทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า กรณีโควิด-19 ของไทยพบว่ามีจุดแข็งหลายเรื่อง เช่น ผู้บริหารระดับสูงมีนโยบายสนับสนุน ระบบสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เป็นต้น ส่วนข้อเสนอแนะนั้นถือเป็นทิศทางและนโยบายด้านสุขภาพที่พัฒนาเพื่อเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น

1.เพิ่มการลงทุนเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้สามารถใช้งานต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาเรามีทั้งไทยชนะ หมอชนะ อย่าง “หมอพร้อม” ก็เป็นแพลตฟอร์มใหญ่อันดับ 2 ของประเทศรองจากเป๋าตัง มีข้อมูลมากกว่า 25 ล้านการลงทะเบียน นอกจากนี้ ครม.กำลังหารือทำแพลตฟอร์มแห่งชาติ ภายใต้กรอบวงเงินที่อนุมัติแล้ว 7 พันล้านบาท เพื่อทำข้อมูลกลาง ซึ่งต้องมีความปลอดภัยควบคู่ เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

2.การเตรียมพร้อมรับมือการระบาดครั้งต่อไปและพัฒนาบุคลากรสหสาขา ทั้งโรคปกติทั่วไป โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ภาวะลองโควิดและมิสซี

3.การดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงการรักษาตามสิทธิ

4.ยกระดับการพึ่งพาตนเองด้านยา วัคซีน ชุดตรวจ และเวชภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้ไทยมีวัคซีน 3 ตัวที่ก้าวหน้าคือ วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม วัคซีนใบยา และวัคซีนของจุฬาฯ แต่อาจจะนำมาใช้ไม่ทันในโควิดครั้งนี้ แต่ในอนาคตจะเป็นความมั่นคง เพราะผลิตได้เอง ไม่ต้องไปซื้อวัคซีนเหมือนที่ผ่านมา

5.การจัดการขยะทางการแพทย์หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการปลดล็อกกฎหมาย เพื่อให้เตาเผาขยะนิคมอุตสาหกรรมสามารถใช้เผาขยะติดเชื้อได้ชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาไม่มีแหล่งกำจัด ท้องถิ่นจึงไม่จัดเก็บขยะติดเชื้อ ทำให้ต้องทิ้งขยะติดเชื้อ เช่น ชุดตรวจ ATK หน้ากากอนามัย ในถุงขยะทั่วไป ก็ต้องสร้างความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการขยะติดเชื้อ

6.พัฒนากลยุทธ์การบูรณาการข้อมูล ซึ่ง ศบค.มีการรวบรวมข้อมูลหน่วยงานต่างๆ มาสู่การตัดสินใจแต่อาจมีเรื่องความล่าช้า ไม่ทันใจภาคเอกชน แต่จำเป็นที่รัฐจะต้องพิจารณาจากข้อมูลที่ถูกต้องและครยถ้วน เพื่อตัดสินใจเดินหน้าในเรื่องต่างๆ ได้

7.การค้นหา บันทึก และเผยแพร่ตัวอย่างที่ดี รวมทั้งบทเรียนสำคัญในการจัดการกับภาวะระบาดใหญ่

“เมื่อโควิดก้าวสู่โรคประจำถิ่น จะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ สร้างงาน และประเทศจะมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้น สำหรับการใช้ยารักษาผู้ป่วยอยู่ระหว่างการหารือว่าจะให้ภาคเอกชนดำเนินการได้เองในกลุ่มคนที่มีศักยภาพถือเป็นทางเลือก ส่วนการผ่อนคลายมาตรการ เช่น ถอดหน้ากากอนามัยนั้น การผ่อนคลายมาตรการขึ้นอยู่กับพื้นที่และสถานการณ์ แต่ในบางประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการ ก็มีทั้งที่ถอดหน้ากากและยังใส่หน้ากากอยู่ หัวใจสำคัญคือต้องก้าวข้าม อยู่กับโควิดอย่างเข้าใจ รู้เท่าทัน และเดินหน้าเศรษฐกิจให้ได้” นายสาธิต กล่าว