ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกดำดิ่งกว่า 10 ดอลลาร์ ปิดหลุด 100 ดอลลาร์ ถูกสุดในรอบ 1 เดือน

331
0
Share:
ราคา น้ำมันดิบ ตลาดโลกดำดิ่งกว่า 10 ดอลลาร์ ปิดหลุด 100 ดอลลาร์ ถูกสุดในรอบ 1 เดือน

ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า รายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ตรงกับเวลาในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดซื้อขายในสัปดาห์นี้ พบว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 99.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -8.93 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -8.24% ในช่วงระหว่างวันนั้น มีราคาร่วงหนักต่ำสุดที่ 97.43 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือร่วงกว่า -10% ส่งผลราคาปิดต่ำสุดในรอบ 1 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 102.77 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -10.73 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -9.45% ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ในสัปดาห์ที่ผ่านไป ราคาน้ำมันดิบทั้ง 2 แห่ง ปิดสวนทางกัน โดยราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์เพิ่มขึ้น +0.9% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ ลดลง -1.2% ตามลำดับ

สาเหตุนักลงทุนกังวลอย่างมากกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาถดถอย ซึ่งอาจจะกำลังเกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นแล้ว ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบอาจลดลงมาก ท่ามกลางภาวะน้ำมันดิบตลาดโลกตึงตัวต่อเนื่อง ด้านธนาคารซิตี้ กรุ๊ป ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะตกต่ำลงอยู่ที่ระดับ 65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในสิ้นปีนี้ ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเกิดภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังคงมีผลต่อพื้นฐานราคาน้ำมันดิบในระดับสูงนั้น ยังคงมีผลต่อการซื้อขายในระยะกลาง ได้แก่ กลุ่มโอเปกพลัสแถลงผลการประชุมว่ามีมติยึดตามข้อตกลงกาคปรับขึ้นกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามมติเดิมคือ 648,000 บาร์เรล/วันในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะน้ำมันดิบตลาดโลกตึงตัวอย่างมาก นอกจากนี้ คนงานในแท่งขุดเจาะน้ำมันดิบทั้ง 74 แห่งในประเทศนอร์เวย์จะผละงานประท้วงตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบราว 5% ของประเทศนอร์เวย์ ทำให้น้ำมันดิบขาดหายจากตลาดโลกราววันละ 320,000 บาร์เรล นอกจากนี้ ความไม่สงบที่รุนแรงในประเทศลิเบียส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตแบะการส่งออกน้ำมันดิบลดลงมาเหลือระหว่าง 365,000-409,000 บาร์เรล/วัน จากเดิมที่ส่งออกได้ถึง 865,000 บาร์เรล/วัน

ขณะที่ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย ยอมรับว่าแนวคิดจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียของกลุ่มจี 7 จะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งสูงอย่างแน่นอน