“ลุงป้อม” ห่วงราคาปาล์มตกต่ำกระทบเกษตรกร เร่งปรับโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม

206
0
Share:
“ลุงป้อม” ประวิตร ห่วง ราคาปาล์ม ตกต่ำกระทบเกษตรกร เร่งปรับโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ หรือ กนป. กล่าวว่า ตนมีความห่วงใย เกษตรชาวสวนปาล์ม ที่อาจได้รับผลกระทบจากราคาผลปาล์มในประเทศตกต่ำ เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการชะลอรับซื้อของโรงสกัดน้ำมันปาล์มในหลายพื้นที่ และผลผลิตที่ออกมามากอย่างต่อเนื่องจากปลายปีที่ทำให้มีน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินเหลือจากการบริโภคในประเทศมากกว่าเดือนละ 1 แสนตัน จนสต๊อกน้ำมันปาล์มไต่ระดับขึ้นเกือบแตะ 4 แสนตันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง

รวมทั้งได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการด้านปาล์มน้ำมันในประเทศ เร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มกลั่นรวมมากกว่า 4 แสนตัน ทำให้ระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบจากระบบมิเตอร์ปาล์มออนไลน์ ณ วันที่ 18 เม.ย. 66 นี้ มีปริมาณลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.14 แสนตัน ทำให้สามารถรักษาระดับราคาผลปาล์มทะลายสูงกว่าราคาประกัน อยู่ที่ระดับ 5.5-6.2 บาท และเพื่อลดความเสี่ยงจากผลผลิตที่ทยอยออกมาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ที่ประชุม กนป. วันนี้ ได้มีมติเห็นชอบมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 1.5 แสนตัน วงเงิน 309 ล้านบาท และเห็นชอบมาตรการประกันราคาผลปาล์มทะลายในวงเงิน 3,133 ล้านบาท มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านพล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำ ให้ศึกษาจัดทำโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมัน ให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยต้องมีการศึกษาพิจารณาให้รอบคอบ นำร่างสูตรสมการมาสอบทานกับข้อมูลตามความเป็นจริงที่ผ่านมา และเปรียบเทียบกับสูตรสมการที่มีใช้อยู่ในต่างประเทศ เพื่อให้ได้สูตรสมการโครงสร้างราคาที่ไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรับซื้อปาล์มทะลายจากชาวสวนปาล์ม หรือตั้งราคาขายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดอย่างไม่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยที่ผ่านมายังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะ ตัวเลขค่าการผลิต การแบ่งผลพลอยได้จากการผลิต และยังไม่มีการทดลองคำนวณราคาตามสูตรดังกล่าวเทียบกับราคาจริง โดยสูตรที่จะบังคับใช้ไม่ควรมีความซับซ้อนจนเกินไป ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้ศึกษาสูตรโครงสร้างของมาเลเซียเพื่อเติม โดยมอบให้ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก) และกระทรวง อว. รับไปดำเนินการจัดหางบประมาณในการศึกษาให้เป็นไปโดยรอบคอบ รวมถึงให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ